ผู้นำด้านอุปกรณ์จราจร ที่ทันสมัย และครบวงจร มากที่สุด ในประเทศไทย!!

ด่วน!! ทางเรามีบริการดูหน้างานเพื่อตรวจสอบหรือวัดขนาดพร้อมให้คำปรึกษา ฟรี...คลิ๊กเลย!!

6 ข้อกำหนด มาตรฐาน การติดตั้ง ป้ายไฟทางออกฉุกเฉิน (Emergency Exit Sign)

Placeholder image

 

     

                 ป้ายไฟทางออกฉุกเฉินคือป้ายที่ใช้ข้อความหรือสัญลักษณ์บ่งบอกเส้นทาง หรือทางออกให้ผู้ที่อยู่ภายในอาคารทราบว่าจะออกจากอาคารเมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ได้อย่างทันท่วงที ช่วยสร้างความปลอดภัยต่อผู้ที่อยู่ภายในอาคารทุกคน รูปทรงของป้ายทางออกฉุกเฉิน คือป้ายทรงสี่เหลี่ยม มีแสงสว่างในตัว สีพื้นของป้ายจะเป็นสีเขียว ในขณะที่ตัวอักษรหรือสัญลักษณ์บนป้ายจะเป็นสีขาว เป็นสีสันที่สะดุดตาและสามารถสังเกตเห็นได้ง่ายแม้จะอยู่ในระยะไกล แต่การเลือกใช้งานและติดตั้งป้ายประเภทนี้นั้นมีกฎหมายเรื่องอาชีวอนามัยและความปลอดภัยควบคุมเอาไว้ ทางร้านไทยจราจรจึงใคร่ขอแนะนำผู้ใช้งานให้ศึกษา ทำความเข้าใจตามข้อกำหนดกฎหมายให้ดีเสียก่อน โดยมี 6 ข้อสำคัญดังต่อไปนี้


            1. ขนาดของป้าย เพื่อให้ป้ายไฟทางออกฉุกเฉินสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน จึงมีมาตรฐานกำหนดขนาดของป้ายตามกฎกระทรวงเรื่องการบริหารอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานที่เกี่ยวกับการป้องกันและระงับอัคคีภัย โดยขนาดของป้ายจะขึ้นกับจำนวนและขนาดขององค์ประกอบภายในป้าย ขนาดของป้ายจะเริ่มที่ 15 x 18 ซม. ที่องค์ประกอบภาพ 1 ชิ้น ขนาดขององค์ประกอบ 10 ซม. และจัดปรับเพิ่มไปเรื่อยตามจำนวนและขนาดขององค์ประกอบ หลักเกณฑ์พิจารณาจากความชัดเจนของป้ายและผู้ที่สนใจจะนำไปใช้งานต้องคำนึงถึงระยะห่างที่สุดระหว่างป้ายกับผู้ที่อยู่ภายในอาคารด้วย อย่างในกรณีที่ระยะห่างจากป้ายอยู่ที่ 48 เมตร ขนาดขององค์ประกอบต้องไม่น้อยกว่า 20 ซม. และขนาดของป้ายจะอยู่ที่ 28 x 32 ซม.กรณีองค์ประกอบภาพ 1 ชิ้น และ 28 x 60 ซม. กรณีองค์ประกอบภาพ 2 ชิ้น

            2. ความสูงในการติดตั้ง ระดับความสูงของ ป้ายทางออกฉุกเฉิน นั้นมีผลโดยตรงกับการมองเห็น มาตรฐานระบบแสงสว่างฉุกเฉินและโคมไฟฟ้าป้ายทางออกฉุกเฉินของวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยระบุว่าความสูงของป้ายควรอยู่ระหว่าง 2 – 2.7 เมตร เพื่อให้สามารถมองเห็นได้ชัดแม้ในระยะไกล

            3. ระบบแสงสว่าง ตามมาตรฐานกฎกระทรวงเรื่องการบริหารอาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานที่เกี่ยวกับการป้องกันและระงับอัคคีภัยฉบับปี 2555 ได้กำหนดให้ป้ายสำหรับทางออกฉุกเฉินต้องมีระบบแสงสว่างในตัว แสงสว่างของป้ายนี้จะต้องสว่างต่อเนื่องแม้ว่ากระแสไฟฟ้าจะดับไปแล้วเป็นระยะเวลาไม้น้อยกว่า 120 นาที ลักษณะของแสงสว่างที่ส่องออกมาต้องไม่กระตุก ต้องไม่มีสิ่งกีดขวางแสงสว่างเพื่อให้ผู้ที่อยู่ภายในอาคารสามารถมองเห็นป้ายได้อย่างชัดเจน

            4. รูปสัญลักษณ์ของป้าย ป้ายสำหรับแจ้งทางออกฉุกเฉินถูกกำหนดให้มีลักษณะทรงสี่เหลี่ยมพื้นผ้าหรือสี่เหลี่ยมจัตุรัส การใช้องค์ประกอบสัญลักษณ์ภายในป้ายอาจมีองค์ประกอบเพียง 1 – 2 ชิ้น ขนาดของป้ายต้องใหญ่กว่าขนาดขององค์ประกอบ ซึ่งแปรผันตามขนาดขององค์ประกอบ ตัวอย่างเช่น กรณีขนาดขององค์ประกอบเป็น 10 ซม. ความสูงของพื้นป้ายด้านบนและล่างห่างจากองค์ประกอบ 2.5 ซม. ส่วนความกว้างด้านซ้ายและขวาอยู่ที่ 4 ซม. แต่หากมีองค์ประกอบ 2 ชิ้น ระยะห่างระหว่าง 2 ชิ้นอยู่ที่ 5 ซม. ซึ่งค่าลักษณะดังกล่าวจะแปรผันไปตามขนาดขององค์ประกอบเหล่านี้ด้วย

            5. ตำแหน่งในการติดตั้ง เพื่อให้มองเห็นได้อย่างชัดเจนการติดตั้งป้ายควรติดเหนือประตูทางออก ในตำแหน่งที่ป้ายจะไม่กีดขวางทางออก และมีการติดเป็นระยะ ๆ โดยระยะห่างจากประตูทางออกมาที่สุดคือ 24 เมตร ซึ่งเป็นมาตรฐานของขนาดองค์ประกอบที่มีขนาด 10 ซม. แต่หากขนาดขององค์ประกอบอยู่ที่ 20 ซม. ก็สามารถเพิ่มระยะห่างเป็น 48 เมตรได้ กรณีทางแยก จะต้องติดตั้งบริเวณทางแยกทั้ง 2 ด้านจนกว่าจะมาบรรจบกันที่ทางออกที่กำหนด กรณีต้องการความชัดเจนมากยิ่งขึ้น สามารถเพิ่มป้ายเสริมบริเวณด้านล่างประตูทางออกหรือใช้ป้ายฝังพื้นเพิ่มเติมได้และสามารถใช้สัญลักษณ์ลูกศรเพื่อความชัดเจนในการบอกเส้นทางออกฉุกเฉินได้ด้วย

            6. ลักษณะของระบบไฟฟ้า เพื่อให้ป้ายทางออกฉุกเฉินสามารถบอกทางออกหนีไฟได้ต้องมีการติดตั้งระบบไฟที่เหมาะสม สายไฟฟ้าที่ใช้เพื่อต่อเข้ากับแหล่งจ่ายไฟฟ้า ควรเป็นชนิดทนไฟและได้รับการป้องกันความเสียหายทางกายภาพที่เหมาะสม อาจเป็นการร้อยในท่อที่สามารถทนไฟได้ไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมง หรือเปลี่ยนรับแหล่งจ่ายไฟอื่นได้แบบอัตโนมัติ สายไฟฟ้าควรมีขนาดเพียงพอสำหรับกระแสไฟที่ไหลในวงจรได้ ขนาดของสายไฟไม่น้อยกว่า 2.5 ตารางมิลลิเมตร และแรงดันไฟต้องไม่ตกเกินร้อยละ 5 สายไฟสำหรับป้ายทางออกฉุกเฉินต้องแยกจากการเดินสายวงจรอื่น วัสดุห่อหุ้มสายไฟควรเป็นวัสดุที่ไม่ติดไฟ มีการทำเครื่องหมายกำกับที่ถาวรและเห็นได้ชัดเจน ซึ่งรวมถึงจุดต่อสายด้วย


                    การเลือกใช้ป้ายทางออกฉุกเฉินตามมาตรฐานที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น มีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานของป้ายไฟทางออกฉุกเฉิน ทั้งยังเป็นหลักประกันว่าทุก ๆ คนที่อาศัยอยู่ภายในอาคารจะมีอาการรอดชีวิตเมื่อเกิดเหตุไฟไหม้ การอพยพเป็นไปอย่างมีระเบียบและถูกต้องไม่หลงทิศทาง และหลักประกันที่จะทำให้มั่นใจว่าป้ายไฟทางออกฉุกเฉินจะยังทำงานได้ดีก็คือการบำรุงรักษาและตรวจสอบสภาพการทำงานอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการดูแลรักษาความสะอาดให้แสงสว่างของป้ายมีความชัดเจน การตรวจสอบความนานของแสงสว่างหลังจากที่มีการตัดไฟฟ้าออกไป รวมถึงระบบสายไฟที่ได้วางเอาไว้ยังอยู่ในสภาพดี ถือเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือต่อสถานการณ์ฉุกเฉินที่ไม่มีใครสามารถคาดเดาได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใดได้อย่างเหมาะสม เมื่อเตรียมความพร้อมต่าง ๆ เหล่านี้ ทางร้านไทยจราจรก็เชื่อมั่นว่าภายในอาคารและองค์กรของท่านจะปลอดภัยต่อทุกสถานการณ์ได้อย่างแท้จริง

 

 

 




white_paper