กรวยจราจร เป็นอุปกรณ์จราจรที่มีความนิยมใช้กันทั่วไป และเป็นที่รู้จักในคนไทยส่วนใหญ่ว่าเป็นเครื่องใช้ของหน่วยงานราชการที่ใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ เช่น การกั้นเลนถนน , การวางเป็นสัญญาณเตือนว่ามีเหตุฉุกเฉินต่าง ๆ
แต่นอกจากการใช้งานเหล่านี้ที่เราคุ้นเคยกันอยู่แล้ว ยังมีการใช้กรวยอีกหลายรูปแบบที่เหมาะสมแก่บุคคลทั่วไปที่สามารถมีไว้ใช้เป็นส่วนตัว ทั้งนี้ ร้านไทยจราจร ได้รวบรวม 10 วิธีการวาง กรวยจราจร ที่ถูกต้อง เพื่อการใช้งานได้อย่างปลอดภัยและได้ประโยชน์สูงสุด ดังนี้
1. การจอดรถเพื่อทำภารกิจที่ไหล่ทาง
ควรจอดรถชิดไหล่ทาง แล้วตั้งกรวยสีส้ม โดยเริ่มจากวางในระดับกลางคันรถ 1 กรวย และวางถัดขึ้นไปด้านหน้ารถ ห่างกันกรวยละ 5 – 10 เมตร อีก 10 – 15 กรวย เช่นเดียวกับการวางกรวย ในแนวไล่ไปด้านหลังรถ โดยให้กรวยที่วางมีแนวเฉียงเข้าไหล่ทาง เพื่อป้องกันรถวิ่งเข้ามาในแนวท้ายรถ การทำแบบนี้จะกั้นพื้นที่ภารกิจได้ราว ๆ 200 เมตร และทำให้รถที่วิ่งอยู่สังเกตเห็นและผ่อนความเร็วได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ
2. กรณีรถเสียฉุกเฉิน
นอกจากเปิดไฟฉุกเฉินเพื่อให้รถที่ขับตามมาด้านหลังได้สังเกตเห็น ลดความเร็ว และเบี่ยงเลนแล้ว แนะนำให้จอดรถหรือเข็นรถชิดไหลทางให้มากที่สุด พร้อมกับ นำ กรวยจราจร มาวางทางด้านท้ายรถ โดยให้ห่างจากท้ายรถไม่น้อยกว่า 50 เมตร หรือเทียบได้ใกล้เคียงระยะก้าว 70 ก้าวปกติ จึงแนะนำให้เจ้าของรถทุกคันมีกรวยแบบพับได้ ซึ่งมีน้ำหนักเบา ติดไว้ประจำรถเสมอ
3. กรณีรถเสีย ที่มี กรวยจราจร พกไว้อยู่แล้ว 6-10 กรวย
ผู้ที่เคยมีประสบการณ์รถเสียหรือทำงานอาสาสมัครทางการจราจร นอกจากจะมีทักษะในการแก้ไขรถแล้ว ยังเห็นความสำคัญของอุปกรณ์จราจร อย่าง ป้ายไฟเตือน LED เสื้อสะท้อนแสง และ กรวยจราจร ที่มีน้ำหนักเบา พับเก็บง่าย พกพาได้ ติดไว้ท้ายรถ เพื่อให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นในการเป็นจุดสังเกต โดยให้วางกรวยแรก ห่างจากท้ายรถ ประมาณ 50 เซนติเมตร แล้ววางถัดไปด้านท้ายรถ ห่างกันกรวยละ 5 – 10 เมตร ให้มีแนวเฉียงเข้าไหล่ทาง กรณีนี้จะใช้กรวยเพียง 6 – 7 ชิ้น แต่ได้ประโยชน์ในการป้องกันอุบัติภัยจากรถชนท้ายซ้ำซ้อนได้ดีกว่ากรวยชิ้นเดียว
4. กรณีรถพยาบาลหรือหน่วยงานต้องจอดฉุกเฉินข้างทาง
หากไม่มีตำรวจการทางมาช่วยในสถานการณ์นั้น แนะนำให้วาง กรวยจราจร ที่แนวท้ายรถ โดยให้คำนวณระยะทางที่ต้องเริ่มวางกรวยจากความเร็วรถที่วิ่งบริเวณนั้น เช่น ความเร็วอยู่ที่ประมาณ 110 กม./ชม. ควรเริ่มวางกรวยที่ 136 เมตร ความเร็ว 80 กม./ชม. เริ่มวางที่ 70 เมตร เป็นต้น (อ้างอิงจากบทความ นพ.รัฐระวี พัฒนรัตนโมฬี หน่วยงานเวชศาสตร์ฉุกเฉิน รพ.ขอนแก่น)
5. จุดตรวจ หรือ ด่านตรวจ
นอกจากที่กฎหมายระบุว่าไม่ควรตั้งใกล้กับทางโค้ง เชิงสะพานหรือจุดเสี่ยงแล้ว ยังต้องมีป้ายหยุดตรวจ และหากเป็นช่วงเวลากลางคืน ต้องมีไฟช่วยส่องสว่างที่มองเห็นได้จากระยะ 150 เมตร ทั้งนี้ การวาง กรวยจราจร ควรเป็นแบบมีแถบคาดสะท้อนแสง และวางเป็นแนวด้านหน้าของด่านตรวจเพื่อเป็นจุดสังเกตและให้เจ้าหน้าที่อยู่ภายในระยะกรวย เพื่อป้องกันอุบัติเหตุด้วย (อ้างอิงจาก พระราชบัญญัติการจราจร พ.ศ.2522 และ พรบ.ทางหลวง พ.ศ.2535)
6. การกำหนดเขตก่อสร้าง
ตามคู่มือการใช้เครื่องมือจราจรบริเวณพื้นที่ก่อสร้าง กำหนดให้สถานที่หรือพื้นที่ก่อสร้างต้องมี ป้ายบอกเตือนล่วงหน้า และมี กรวยจราจร วางรอบ ๆ บริเวณก่อสร้างตามความเหมาะสม โดยต้องสัมพันธ์กับการพิจารณาด้านความปลอดภัยของผู้สัญจรไปมาบนท้องถนน ตามกฎกระทรวง เรื่อง “การกำหนดมาตรฐานในการบริหารและจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับงานก่อสร้าง พ.ศ. 2551 หมวด 2 ว่าด้วยเรื่องเขตก่อสร้าง”
7. การวาง กรวยจราจร ช่วงเวลาวิกาล
ควรใช้คู่กับอุปกรณ์จราจรชนิดอื่น ๆ เช่น ป้ายไฟเตือน LED ติดท้ายรถ และสวม เสื้อสะท้อนแสง ระหว่างการปฏิบัติงาน เพื่อให้รถที่ขับผ่านไปมาสามารถสังเกตเห็นได้ตั้งแต่ระยะ 150 เมตรขึ้นไป ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยในการทำงานขั้นสูงและลดอัตราการเสียชีวิตเนื่องจากอุบัติเหตุในการปฏิบัติงานยามวิกาล
8. การวางจองพื้นที่
ปัจจุบันเป็นปัญหากันมาก สำหรับการนำกรวยหรือเก้าอี้มาจองพื้นที่หน้าร้านค้า หรือหน้าบ้านบริเวณฟุตบาทและถนนสาธารณะ ซึ่งนับว่าเป็นความผิดทางกฎหมาย ยืนยันกันได้ด้วยประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 385 ที่ห้ามการวางสิ่งของกีดขวางระวางโทษไม่เกิน 5 พันบาท และ พรบ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 (ม.114) รวมถึง พรบ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 ม.19 ซึ่งมีโทษปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาทด้วย ดังนั้น การวางกรวยต้องอยู่ภายในอาณาเขตพื้นที่บ้านส่วนตัวเท่านั้น จึงจะไม่เป็นปัญหาทางกฎหมาย
9. การวางล้อมเขตพื้นที่ส่วนตัว
ไม่ควรใช้กรวยที่มีสีส้มและมีตราโลโก้ที่ทำให้ผู้อื่นเข้าใจผิดว่าเป็นของหน่วยงานราชการ ดังนั้นจะเห็นได้ว่าโรงงานและร้านขายอุปกรณ์จราจรจึงมีการรับออเดอร์ทำสีสันและสกรีนลายตามผู้สั่ง เพื่อวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน และป้องกันการกระทำผิดกฎหมายในลักษณะของการแอบอ้างหรือเลียนแบบหน่วยงานราชการนั่นเอง
10. การวางกรวยเพื่อกั้นเลนถนน
เช่น ในลานจอดรถห้างสรรพสินค้า หรือโครงการหมู่บ้านจัดสรรต่าง ๆ ควรวางเป็นแนวตรง ห่างเป็นระยะ ทุก 30 เมตร แต่หากเป็นการกั้นถนนย่านที่มีผู้คนพลุกพล่าน อาจกั้นถี่เป็น ทุก 5 -10 เมตร ก็ได้
จะเห็นได้ว่า กรวยจราจร มีประโยชน์ทั้งเพื่อการป้องกันอุบัติภัย การแสดงเขตพื้นที่ และการจัดระเบียบเส้นทางจราจร แต่ต้องใช้อย่างถูกต้องภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย ซึ่ง ร้านไทยจราจร หวังว่าท่านจะได้ประโยชน์จากบทความนี้ ในการใช้กรวยอย่างถูกต้องตามวัตถุประสงค์ ทั้งนี้สามารถหาข้อมูลเรื่อง กรวยจราจร และอุปกรณ์จราจรอื่น ๆ ได้ที่ https://trafficthai.com ร้านไทยจราจร มีข้อมูลที่ถูกต้องสำหรับให้คำแนะนำ และมีสินค้าดี คุณภาพคุ้มราคา การันตีความพอใจ 100%