ถังดับเพลิงคืออุปกรณ์ที่ช่วยระงับเหตุเพลิงไหม้ที่ใช้งานได้สะดวก อาคารทุกประเภทสามารถนำไปใช้งานได้เพื่อเพิ่มมาตรการความปลอดภัยให้กับชีวิตและทรัพย์สินได้เป็นอย่างมาก แต่เพื่อประสิทธิภาพการใช้งานที่ดี การเลือกซื้อถังดับเพลิงจึงต้องเริ่มตั้งแต่การพิจารณาประเภทของถังดับเพลิง ขนาด และคุณภาพของตัวถังดับเพลิง เมื่อเลือกซื้อถังดับเพลิงได้แล้วยังต้องติดตั้งอย่างเหมาะสม เพื่อการหยิบใช้งานสะดวก เข้าถึงได้ง่าย รวมถึงการบำรุงรักษาอย่างเหมาะสมซึ่งจะส่งผลให้เกิดความปลอดภัยสูงสุดในขณะเกิดเหตุเพลิงไหม้ได้ดี ซึ่งตามที่มีกำหนดไว้ในมาตรฐานของกระทรวงอุตสาหกรรมระบุว่าขนาดของถังดับเพลิงแบบพกพาที่ดีจะต้องมีขนาดไม่น้อยกว่า 4.5 กิโลกรัม มีสภาพพร้อมใช้งานอยู่ตลอดเวลา และจำเป็นต้องได้รับการตรวจสอบทุก 6 เดือน ซึ่งประเภทและขนาดของถังดับเพลิงที่พบเห็นตามท้องตลาดที่ทางร้านไทยจราจรขอแนะนำนั้นมีดังต่อไปนี้
1. ถังดับเพลิงชนิดผงสารเคมีแห้ง เป็นถังดับเพลิงที่สามารถพบเห็นได้ทั่วไป เพราะมีราคาที่ไม่แพง น้ำหนักไม่มาก ภายในบรรจุผงสารเคมีที่มีคุณสมบัติขัดขวางไม่ให้ออกซิเจนเข้าถึงเชื้อเพลิงได้ในขณะฉีดพ่น ทำให้เมื่อใช้งานแล้วจะทิ้งคราบสารเคมีในลักษณะเม็ดทรายละเอียดสีขาวเอาไว้ ทำให้ไม่สะดวกจะใช้งานในพื้นที่ที่ต้องการความละเอียดอ่อน อย่างบริเวณที่มีอุปกรณ์ไอทีหรือเครื่องคอมพิวเตอร์ตั้งอยู่ เพราะคราบสารเคมีจะทำให้เครื่องเสียหายได้ ขนาดของถังดับเพลิงชนิดนี้จะเริ่มตั้งแต่ขนาด 1.0 กิโลกรัม เป็นถังขนาดเล็กสำหรับยานพาหนะที่เคลื่อนที่ได้ ส่วนขนาดมาตรฐานที่นิยมติดตั้งตามอาคารคือขนาด 4.5 กิโลกรัม ซึ่งเวลาติดตั้งจะต้องใช้อุปกรณ์ที่ช่วยการมองเห็นในระยะไกลแม้ในที่มืดได้อย่างอุปกรณ์ไฟฉุกเฉิน เป็นต้น
2. ถังดับเพลิงชนิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นถังดับเพลิงที่ใช้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในการลดอุณหภูมิ และขัดขวางการทำงานของออกซิเจน จึงทำให้ไฟที่กำลังลุกไหม้ดับลงไปได้ แต่ข้อดีของถังดับเพลิงชนิดนี้คือการไม่ทิ้งคราบสกปรกหลังใช้งานเพราะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในถังจะระเหิดออกไปจนหมด ทำให้เป็นสารดับเพลิงที่สะอาดไม่เหลือแม้แต่กลิ่น แต่ขนาดของถังดับเพลิงชนิดนี้มักมีขนาดใหญ่กว่าถังดับเพลิงชนิดอื่น ๆ โดยขนาดที่เล็กที่สุดอยู่ที่ 2.3 กิโลกรัม แต่ขนาดมาตรฐานที่นิยมใช้ตามอาคารทั่วไปคือถังขนาด 4.5 กิโลกรัม แต่ด้วยปัญหาของน้ำหนักถังที่ค่อนข้างสูงเพราะต้องหนาเพียงพอที่จะทนแรงดันของก๊าซได้ ทำให้ถังชนิดไม่นิยมติดตั้งแบบแขวน แต่ใช้การจัดวางซึ่งอาจใช้ร่วมกับป้ายถังดับเพลิงที่มีห่วงยึดเกาะกันล้ม พร้อมป้ายสัญลักษณ์ที่มองเห็นได้ง่าย
3. ถังดับเพลิงชนิด Halogen เป็นสารเคมีที่กำลังได้รับความนิยมมาก เพราะไม่ทิ้งสารตกค้าง และยังไม่มีองค์ประกอบของสาร CFC ที่เป็นสารอันตรายต่อสภาพแวดล้อมอีกด้วย การดับเพลิงสามารถใช้ได้กับเชื้อเพลิง 3 ประเภท คือเชื้อเพลิงชนิดของแข็ง ชนิดของเหลว และชนิดที่มีกระแสไฟฟ้าวิ่งผ่านอยู่ ทำให้เป็นถังดับเพลิงอเนกประสงค์อีกชนิดหนึ่งที่สามารถนำมาใช้งานกับอาคารทุกประเภทได้ดี โดยทั่วไปถังเคมีประเภทนี้มีขนาดเริ่มต้นที่ 2.3 กิโลกรัม แต่ก็มีขนาดใหญ่ได้ถึง 23 กิโลกรัม
4. ถังดับเพลิงชนิดโฟม ถังดับเพลิงชนิดนี้เมื่อฉีดพ่นออกมาจะให้สารเคมีลักษณะเป็นเนื้อโฟมแผ่ปกคลุมทั่วพื้นผิวที่กำลังเกิดเพลิงไหม้ จึงไม่สามารถใช้ดับเชื้อเพลิงที่มีสื่อกระแสไฟฟ้าไหลผ่านได้ เพราะเนื้อโฟมมีลักษณะคล้ายน้ำที่เป็นสื่อนำกระแสไฟได้ดี อาจส่งผลให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้งานได้ ขนาดของถังดับเพลิงประเภทนี้จะเริ่มตั้งแต่ 12 กิโลกรัมไปจนถึง 45.5 กิโลกรัม
อาจกล่าวได้ว่าขนาดของถังดับเพลิงนั้นมีหลากหลายขึ้นกับประเภทและชนิดของถังดับเพลิงนั้นด้วย แต่ถังที่กำหนดตามมาตรฐานของกระทรวงอุตสาหกรรมคือถังดับเพลิงที่มีน้ำหนักตั้งแต่ 4.5 กิโลกรัมขึ้นไป แต่การจำหน่ายถังดับเพลิงที่มีขนาดเล็กกว่าก็เพื่อเพิ่มความสะดวกในการพกพากรณีที่ต้องการติดตั้งตามยานพาหนะที่เคลื่อนที่ได้อย่างรถบรรทุก หรือเรือขนส่งนั่นเอง ส่วนถังดับเพลิงขนาด 4.5 กิโลกรัมคือถังดับเพลิงขนาดทั่วไปที่พบเห็นได้ง่ายที่สุด เพราะสะดวกต่อการยกมาใช้งาน การติดตั้งสามารถวางไว้กับพื้นหรือใช้ตัวล็อคยึดไว้บนผนัง โดยความสูงของถังที่ติดตั้งบนผนังนั้นต้องไม่เกิน 1.5 เมตร การวางถังดับเพลิงต้องให้แน่ใจว่าไม่มีสิ่งกีดขวาง หรือตัวถังเองไม่ขัดขวางเส้นทางการอพยพออกจากอาคาร เพื่อให้มองเห็นง่ายจึงควรมีการติดตั้งไฟฉุกเฉินในบริเวณที่วางถังดับเพลิงเอาไว้ด้วย
การเลือกขนาดของถังดับเพลิงควรพิจารณาความเสี่ยง หรือปริมาณเชื้อเพลิงที่มีการจัดเก็บไว้ภายในอาคารสถานที่นั้น ๆ อย่างกรณีที่จัดเก็บไม้เป็นปริมาณมาก ๆ ควรเลือกถังดับเพลิงที่มีขนาดใหญ่ หรือพิจารณาจากสัญลักษณ์ข้างถังที่ระบุเอาไว้เป็นตัวเลขข้างตัวอักษรสัญลักษณ์เชื้อเพลิง อาทิเช่นสัญลักษณ์ 2A แสดงว่าถังดับเพลิงดังกล่าวสามารถดับเพลิงที่มีเชื้อเพลิงเป็นของแข็งได้ประมาณไม้ 78 ชิ้นที่มีการกองเอาไว้สูง 13 ชั้น เป็นต้น อย่างไรก็ดีการใช้ถังดับเพลิงที่มีขนาดใหญ่อาจส่งผลให้ไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้สะดวก อาจพิจารณาติดตั้งบนป้ายตั้งถังดับเพลิงที่มีตัวยึดเกาะให้วางได้มั่นคงแทน โดยเสริมอุปกรณ์ล้อลากเพื่อให้ง่ายต่อการนำไปใช้ตามจุดที่จำเป็น เมื่อพิจารณาเลือกตามความจำเป็นเหล่านี้แล้วทางร้านไทยจราจรก็ขอแนะนำให้ผู้ใช้ดูแลและตรวจสอบสภาพของถังดับเพลิงให้พร้อมใช้งานอยู่เสมอด้วย เพื่อความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของท่าน