ไฟไหม้นับเป็นภัยพิบัติรุนแรงที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกอาคารและสถานที่ ปัจจัยที่ทำให้เกิดเพลิงไหม้นั้นก็มีอยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นสภาวะแวดล้อมที่แห้ง , ลมแรง , อยู่ใกล้แหล่งเชื้อเพลิงที่ติดไฟได้ง่าย , พฤติกรรมการใช้ชีวิตที่มีความเสี่ยงอย่างการเสียบปลั๊กแบตเตอรี่ค้างเอาไว้ รวมถึงความเสื่อมสภาพของสายไฟหรืออุปกรณ์ที่ก่อให้เกิดเพลิงไหม้ได้ง่าย โดยที่ผู้ใช้งานไม่ทันระวังหรือรู้ตัว เมื่อเกิดเพลิงไหม้แล้ว สิ่งสำคัญที่สุดที่ผู้อยู่ภายในอาคารควรระลึกถึงเป็นลำดับแรกนั้นก็คือการหาทางเอาตัวรอดให้เร็วที่สุด เพราะทรัพย์สินแม้จะสูญเสียไปแต่ก็ยังสามารถหามาทดแทนใหม่ได้ แต่หากเป็นชีวิตหรือความพิการของร่างกายแล้ว ย่อมเป็นความสูญเสียที่ไม่อาจเรียกคืนกลับมาได้อีก ทางร้านไทยจราจรจึงอยากจะขอเสนอเทคนิคการเอาตัวรอดในขณะเกิดเพลิงไหม้มาให้ทุกท่านใช้ เพื่อเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตของทุกคนที่อยู่ภายในอาคารหรือสถานที่ต่าง ๆ ที่ประสบเหตุเพลิงไหม้ตามรายละเอียดต่อไปนี้
1. ตั้งสติเอาไว้ให้ดี สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้คนเสียชีวิตในเหตุการณ์เพลิงไหม้นั้นก็คือความตื่นตระหนกจนไม่สามารถตัดสินใจทำสิ่งใดได้ถูกต้อง บางคนอาจวิ่งหนีจากเปลวไฟจนหลงทาง หรือหลงเข้าไปยังบริเวณที่ไม่มีทางออกได้ ส่งผลร้ายถึงขั้นเสียชีวิต ดังนั้นหากพบเหตุเพลิงไหม้ สิ่งสำคัญที่ต้องทำก่อนเป็นอันดับแรกคือการตั้งสติให้ดี บางครั้งเหตุอาจยังไม่รุนแรงและสามารถระงับได้ทันที หรือหากพบว่าไม่สามารถจัดการได้ ควรกดกริ่งสัญญาณเตือนคนอื่น ๆ ภายในอาคาร และมองหาป้ายทางออกฉุกเฉินเพื่อหาทางอพยพออกนอกอาคารให้เร็วที่สุด
2. หลีกเลี่ยงการสูดควันไฟ สาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้ผู้ประสบเหตุเพลิงไหม้เสียชีวิตนั้นก็คือภาวะขาดออกซิเจนอันเนื่องมาจากการสูดควันไฟเข้าไปในปอดมากเกินไป ดังนั้นหากเกิดเพลิงไหม้ และมีลักษณะของควันไฟออกมาในปริมาณ ควรหาผ้าสะอาดมาชุบน้ำหมาด ๆ ปิดปากและจมูกเอาไว้ หากควันลอยคลุ้งจนไม่สามารถมองเห็นทางได้ แม้ไฟฉุกเฉินจะทำงานแล้วก็ตาม ให้ผู้ที่อยู่ในอาคารใช้วิธีคลานต่ำ เพราะควันไฟจะลอยขึ้นบนที่สูงเท่านั้น
3. อย่ารีบร้อน เมื่อต้องการออกจากห้องหรืออาคารที่เกิดเพลิงไหม้ สิ่งสำคัญคืออย่ารีบร้อนเกินไป ยิ่งในกรณีที่จำเป็นต้องจับลูกบิดหรือกลอนประตูเพื่อออกจากห้อง ควรลองสัมผัสหรือแตะดูก่อนว่ากลอนนั้นร้อนมากเกินไปหรือไม่ หากกลอนร้อนมาก ก็ต้องเลี่ยงไปใช้ทางหนีทางอื่นแทนเพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างการอพยพเคลื่อนย้าย รวมทั้งยังป้องกันไม่ให้หลงเข้าไปในพื้นที่ที่มีไฟโหมแรงอยู่ได้อีกด้วย
4. ปิดประตูให้สนิท เมื่อสามารถออกจากห้องที่เกิดเหตุเพลิงไหม้ หรือกำลังจะถูกไฟไหม้ลุกลามเข้ามาหาตัว ผู้อพยพควรปิดประตูให้สนิทหลังจากอพยพหนีไฟออกมา เพื่อลดแรงลมที่จะเข้าไปโหมให้ไฟรุนแรงขึ้น รวมถึงป้องกันให้ไฟลุกไหม้เข้ามาใกล้ตัวได้ช้าลง เป็นการเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตให้เพิ่มมากขึ้น ยิ่งกรณีประตูทางออกหนีไฟที่ทำจากวัสดุทนการลามไฟก็ยิ่งเพิ่มระยะเวลาในการอพยพออกจากอาคารให้ปลอดภัยได้ยาวนานขึ้น
5. หาทางยืดเวลาเอาไว้ ในกรณีที่คุณติดอยู่ภายในห้องและกำลังรอการช่วยเหลือจากภายนอกอยู่ คุณจำเป็นต้องหาหนทางเอาตัวรอดด้วยการปิดประตูห้องให้สนิท หาเศษผ้าหรือวัสดุมาอุดตามขอบประตู หรือช่องที่เปิดให้ควันลอยเข้ามาได้ให้หมด จากนั้นจึงมารอขอความช่วยเหลือบริเวณหน้าต่าง หรือนำบันไดหนีไฟแบบพกพามาใช้เคลื่อนย้ายตนเองออกจากอาคาร หรืออาจนำไซเรนมือหมุนมาให้สัญญาณกับเจ้าหน้าที่ในการค้นหาผู้ประสบภัยได้อีกทางหนึ่งด้วย
6. การแก้ปัญหากรณีไฟติดเสื้อ บางครั้งในระหว่างการอพยพออกจากอาคาร ผู้อพยพอาจอยู่ใกล้เปลวไฟมากจนเสื้อผ้าที่สวมใส่อยู่เกิดการติดไฟได้ หากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวห้ามวิ่งหนีเด็ดขาด เพราะไฟจะลุกลามได้เร็วขึ้น และยังอาจทำให้เกิดการชนกระแทกกับผู้อื่นให้บาดเจ็บได้ ควรหาทางดับไฟให้ได้ด้วยการล้มกลิ้งลงไปกับพื้นแทน เมื่อไฟดับแล้วควรสำรวจว่ามีอาการบาดเจ็บใด ๆ หรือไม่เพื่อทำการปฐมพยาบาลเบื้องต้นก่อนเคลื่อนย้ายออกจากอาคาร
7. ห้ามใช้ลิฟต์เด็ดขาด ในขณะที่เกิดเพลิงไหม้นั้นกระแสไฟฟ้าตามปกติมักไม่สามารถใช้งานได้ อันเนื่องมาจากความเสียหายของสายไฟ หรือทางเจ้าหน้าที่ดับเพลิงอาจตัดไฟเพื่อให้ง่ายต่อการระงับเหตุเพลิงไหม้ ดังนั้นแม้ว่าผู้ประสบเหตุจะต้องการเคลื่อนย้ายออกจากตึกให้เร็วเพียงใดก็ห้ามใช้ลิฟต์โดยเด็ดขาด
8. หาจุดรวมพลให้พบ จุดรวมพลคือบริเวณที่ปลอดภัยที่สุด เพราะแม้จะออกจากอาคารแล้ว แต่แรงลมหรือซากความเสียหายจากเปลวไฟก็อาจร่วงลงมาหาผู้อพยพได้ ดังนั้นการหยุดรอในจุดรวมพลจะช่วยให้ผู้อพยพปลอดภัยมากขึ้น และยังเป็นจุดที่ง่ายต่อการสังเกตของเจ้าหน้าที่ดับเพลิงในการให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นได้เป็นอย่างดีอีกด้วย
เทคนิคทั้ง 8 รายการคือเทคนิคที่ช่วยเพิ่มอัตราการรอดชีวิตในขณะประสบเหตุเพลิงไหม้ได้มากขึ้น ทางร้านไทยจราจรขอเน้นย้ำว่าอย่าลืมนึกถึงการป้องกันก่อนเกิดเหตุเพลิงไหม้นั้นมีความสำคัญและจำเป็นมากกว่า การเตรียมความพร้อมของอุปกรณ์ระงับเหตุทุกประเภทให้ดีก็ยิ่งเพิ่มอัตราการรอดชีวิตของทุกคนในอาคารได้ทุกคน รวมถึงทุกหน่วยงานจะต้องมีการฝึกซ้อมเหตุเพลิงไหม้อยู่เป็นประจำด้วยเพื่อว่าหากเกิดเหตุการณ์ขึ้นมา บุคลากรในหน่วยงานจะได้รับมือกับเหตุดังกล่าวได้อย่างมีสติ