การใช้รถใช้ถนนนั้นสิ่งสำคัญที่เจ้าของรถไม่ควรจะละเลยนั้นก็คือการตรวจสอบและดูแลสภาพรถให้พร้อมใช้งานอยู่เสมอ องค์ประกอบต่าง ๆ ของตัวรถควรได้รับการดูแลและตรวจสอบอย่างเหมาะสมเป็นประจำและสม่ำเสมอ เพื่อให้รถอยู่ในสภาพดีพร้อมใช้งาน และยังเป็นการสร้างความปลอดภัยทั้งต่อตัวเจ้าของรถเอง และผู้รวมทางคนอื่นๆ อย่างไรก็ดีแม้ว่าจะมีการดูแลและบำรุงรักษามาเป็นอย่างดีแล้ว แต่เหตุไม่คาดฝันก็ยังสามารถเกิดขึ้นได้ อย่างการเกิดเบรกแตก คำนี้หมายถึงอาการที่เบรกไม่ทำงาน แม้ว่าผู้ขับขี่จะเหยียบแป้นเบรกไว้อย่างแรงแล้วก็ตาม เมื่อระบบเบรกไม่ทำงานก็จะส่งผลให้ผู้ขับขี่ไม่สามารถชะลอความเร็วหรือหยุดรถได้ ส่งผลให้กลายเป็นอุบัติเหตุที่ส่งผลร้ายแรงต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้ขับขี่และเพื่อนร่วมทางได้ ร้านไทยจราจร จึงขอแนะนำวิธีแก้ไขสถานการณ์ “รถเบรกแตก” ไว้ให้คุณผู้อ่านได้พิจารณาและปฏิบัติตามรายละเอียดต่อไปนี้
1. รวบรวมสติเอาไว้ให้ดี หากในขณะที่กำลังขับขี่รถยนต์อยู่แล้วพบว่ารถไม่สามารถควบคุมหรือหยุดได้ตามต้องการ ย่อมส่งผลให้ผู้ขับขี่รู้สึกตื่นตระหนกได้เป็นอย่างมาก ยิ่งมีอาการตกใจมากเท่าไร ก็ยิ่งทำให้การตัดสินใจแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าของผู้ขับขี่ยากมากขึ้นเท่านั้น ดังนั้นหากพบว่ารถมีอาการเบรกแตก ให้ผู้ขับขี่รวบรวมสติให้ดี พยายามจับพวงมาลัยรถเอาไว้ให้มั่น เพื่อบังคับทิศทางไปยังด้านซ้ายของถนน พร้อมหลบหลีกไม่ให้ไปเฉี่ยวชนกับรถหรือคนเดินถนนคนอื่น ๆ หากเป็นไปได้ควรเปิดไฟกระพริบหรือบีบแตรเพื่อเตือนเพื่อนร่วมทางด้วย
2. พยายามลดความเร็วของรถ เมื่อระบบเบรกไม่ทำงานก็อาจเป็นการยากที่จะชะลอความเร็วของรถให้ช้าลงได้ ดังนั้นผู้ขับขี่ควรพยายามมองหาสิ่งกีดขวางที่ช่วยหน่วงหรือลดความเร็วของรถได้ อาทิเช่น ยางชะลอความเร็ว ปล่อยคันเร่ง เปลี่ยนมาใช้เกียร์ต่ำ การเปลี่ยนเกียร์ต่ำควรทำเป็นทีละขั้นตอนตามระบบป้องกัน เพื่อป้องกันไม่ให้เกียร์เกิดความเสียหายและสูญเสียการควบคุมตามไปด้วยได้
3. ใช้เบรกมือช่วย การหยุดรถด้วยเบรกมืออาจมีความแตกต่างจากการใช้ระบบเบรกปกติ แต่ในภาวะฉุกเฉินที่เบรกไม่สามารถใช้งานได้ เบรกมือก็สามารถนำมาใช้เป็น Emergency Breaking ได้ แต่เวลาที่ใช้ไม่ควรดึงสุดแรงขึ้นมาในทันที แต่ควรค่อย ๆ เพิ่มแรงดึงขึ้นมาเรื่อย ๆ จนสุด เพราะการดึงเบรกมือแบบเต็มแรงจะทำให้เกิดแรงกระชากที่ส่งผลให้รถสูญเสียการควบคุมได้
4. กรณีเบรกแตกบริเวณทางลาดชัน การขับรถผ่านทางลาดชัน โดยเฉพาะในช่วงของทางลาดชันในขณะที่กำลังขับเคลื่อนลงมา เพราะรถจะถูกแรงโน้มถ่วงดึงให้เคลื่อนย้ายลงมามีความรวดเร็วมากขึ้นแม้ไม่ต้องเหยียบคันเร่งเลยก็ตาม ดังนั้นหากเบรกของรถมาแตกในระหว่างกำลังขับลงทางลาดชัน ควรค่อย ๆ ชะลอความเร็วด้วยการเปลี่ยนมาใช้เกียร์ต่ำ และถึงจังหวะที่ความลาดชันลดน้อยลงจึงค่อยดึงเบรกมือขึ้น จะช่วยให้รถสามารถชะลอความเร็วได้ดีมากขึ้น ลดความร้อนที่เกิดจากแรงเสียดสีระหว่างเบรกมือและพื้นผิวถนนได้อีกด้วย
5. การขับเคลื่อนรถเข้าหาสิ่งกีดขวาง บางกรณีหากไม่สามารถลดระดับความเร็วได้อย่างเหมาะสม ผู้ขับขี่อาจจำเป็นต้องมองหาอุปกรณ์การจราจรที่ช่วยลดความเร็ว โดยไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อตัวรถเอาไว้ด้วย อย่างการเคลื่อนเข้าหา ยางกันกระแทก เพื่อให้รถกระแทกและหยุดได้อย่างทันท่วงทีก่อนที่จะไปชนกับรถคันอื่น ๆ หรือผู้ใช้รถใช้ถนนคนอื่น ๆ จนเกิดความเสียหายที่ประเมินค่าไม่ได้
6. การชะลอความเร็วเพื่อจอดรถ เมื่อรถสามารถลดระดับความเร็วได้อย่างเหมาะสมจำเป็นต้องหยุดรถให้ได้ แม้ว่าอาจจะมีการกระแทกกับไหล่ทางบ้างก็ต้องพยายามจับพวงมาลัยให้มั่นเพื่อหยุดรถให้ได้ และระหว่างรอการช่วยเหลืออยู่นั้น รถที่ประสบเหตุควรให้สัญญาณเตือนกับรถคันอื่น ๆ ด้วย อย่างการวาง กรวยจราจร หรือ ป้ายสามเหลี่ยมสะท้อนแสง มาไว้ด้านหลังตรงจุดที่ห่างจากท้ายรถในระยะไม่น้อยกว่า 50 เมตร เพื่อเป็นการป้องกันและเตือนไม่ให้เกิดอุบัติเหตุซ้ำซ้อนจากเพื่อนร่วมทางคนอื่น ๆ
อย่างไรก็ตามสาเหตุที่ทำให้เบรกแตกนั้นสามารถป้องกันได้ด้วยการดูแลรักษาระบบเบรกอย่างสม่ำเสมอ ทั้งการเปลี่ยนน้ำมันเบรกอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยปีละครั้ง เพราะน้ำมันเบรกที่ใช้งานเกิน 1 ปีจะมีความเสี่ยงจะเกิดความชื้นสะสมจนเสื่อมสภาพ และไม่สามารถทำให้ระบบเบรกทำงานได้ตามปกติ การตรวจสอบผ้าเบรกเป็นประจำ ความหนาของผ้าเบรกที่ดีไม่ควรน้อยกว่า 3 มิลลิเมตร หากผ้าเบรกมีความบางควรทำการเปลี่ยนทันที เพราะมิฉะนั้นจะไม่สามารถเบรกได้อย่างเป็นปกติ และควรเลือกผ้าเบรกที่คุณภาพมากกว่าราคา เพราะเป็นอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนนเป็นอย่างมาก อุปกรณ์อีกชนิดที่มีความสำคัญในระบบเบรกก็คือ จานเบรก ต้องอยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน กล่าวคือจานเบรกที่อยู่ในสภาพสมบูรณ์ไม่มีรอยแตกร้าว ชำรุดหรือเสียหาย มีลักษณะเรียบตรงไม่บิดงอ หรือบางเกินไป การตรวจสภาพจานเบรกจึงจำเป็นมาก ช่วยป้องกันไม่ให้เกิดอาการเบรกแตกที่ทำให้เป็นอันตรายระหว่างการขับขี่รถยนต์ ร้านไทยจราจรหวังว่าผู้ใช้รถใช้ถนนทุกคนจะมีความปลอดภัยบนท้องถนนเมื่อขับรถอย่างมีสติ และขอให้หมั่นดูแลรักษาสภาพรถยนต์ของท่านอย่างเหมาะสมอยู่เสมอ