ผู้นำด้านอุปกรณ์จราจร ที่ทันสมัย และครบวงจร มากที่สุด ในประเทศไทย!!

ด่วน!! ทางเรามีบริการดูหน้างานเพื่อตรวจสอบหรือวัดขนาดพร้อมให้คำปรึกษา ฟรี...คลิ๊กเลย!!

10 จุดอันตรายในบ้าน ที่มักเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุ

Placeholder image

 

     

      เนื่องจากกระดูกของผู้สูงอายุมักจะเปราะและแตกหักง่าย ยิ่งถ้าผู้สูงอายุมีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน อาจทำให้การรักษากระดูกหักทำได้ยากยิ่งขึ้น การหกล้มสำหรับผู้สูงอายุจึงไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เหมือนในวัยเด็กอีกต่อไป วันนี้ร้านไทยจราจรได้รวบรวม 10 จุดอันตรายในบ้านที่มักเกิดกับผู้สูงอายุมาเล่าสู่กันฟัง พร้อมด้วยวิธีแก้ง่าย ๆ ด้วยตัวคุณเอง ดังนี้
      1. บันได
บันไดเป็นจุดที่มีปัญหามากที่สุดเป็นอันดับต้น ๆ เนื่องจากผู้สูงอายุโดยมากไม่สามารถยกเท้าให้สูงจากพื้นได้เท่าคนปกติ บางครั้งคนสูงวัยอาจมีปัญหาการทรงตัว หรือมีปัญหาหน้ามืดตาลายเฉียบพลัน โดยปกติแล้วควรทำทางลาดคู่กับบันไดเพื่อให้ผู้สูงอายุเดินขึ้นทางลาดได้ เพราะนอกจากจะขจัดปัญหาการยกเท้าได้ไม่สูงพอจนสะดุดขอบบันไดแล้ว ยังสามารถใช้เครื่องช่วยเดินบนทางลาด หรือใช้รถเข็นได้อีกด้วย หากผู้สูงอายุยังสามารถเดินได้ดีแค่มีปัญหาการทรงตัวเล็ก ๆ น้อย ๆ หรือหน้ามืดบ้างเป็นบางคราว อาจไม่ต้องทำทางลาด เพียงแต่เพิ่มอุปกรณ์เสริม กล่าวคือ หากบันไดที่ไม่มีราว จะต้องติดตั้งราวจับกับผนัง และต้องติดแผ่นติดจมูกบันไดกันลื่นเสมอ หากไม่สะดวกติดแผ่นดังกล่าว อาจติดเป็นเทปกันลื่นแทนก็ได้
      2. พื้นห้องครัว
เนื่องจากพื้นห้องครัวส่วนใหญ่มักปูด้วยกระเบื้อง ทำให้ลื่นและหกล้มได้ง่าย ห้องครัวจึงเป็นสถานที่ที่ผู้สูงอายุมักเกิดอุบัติเหตุเช่นกัน นอกจากควรปูกระเบื้องที่มีร่องเพิ่มแรงเสียดทานในห้องครัวแล้ว ยังควรให้ผู้สูงอายุสวมรองเท้าแตะหรือรองเท้าเดินในบ้านเพื่อเพิ่มการเกาะยึดเสมอ
      3. ห้องน้ำ
50% ของการลื่นล้มภายในบ้านเกิดในห้องน้ำ เพราะพื้นกระเบื้องที่เปียกชื้นทำให้ลื่นได้ง่าย นอกจากนี้ห้องน้ำยังมีขอบสูงต่ำที่ต้องยกเท้าก้าวข้าม ไม่ว่าจะเป็นธรณีประตูห้องน้ำ หรือขอบกั้นบริเวณที่อาบน้ำกับสุขา สิ่งเหล่านี้ก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ทั้งสิ้น ยิ่งไปกว่านั้นที่แขวนผ้าเช็ดตัวที่สูงเกินไปจนผู้สูงอายุต้องเขย่งหรือเอื้อมก็เป็นปัจจัยทำให้ลื่นล้มได้เช่นกัน ทางแก้ง่าย ๆ คือ ควรติดแผ่นยางกันลื่นในห้องน้ำ มีราวจับที่ได้มาตรฐาน และติดตั้งที่แขวนผ้าเช็ดตัวที่พอดีกับความสูงของผู้สูงอายุ หรือใช้แบบที่ปรับลดเพิ่มความสูงได้
      4. ห้องนั่งเล่น
สาเหตุหลักที่ทำให้ผู้สูงอายุล้มในห้องนั่งเล่น ก็คือการสะดุดสายไฟบนพื้นห้อง เนื่องจากบนพื้นมีทั้งสายเคเบิ้ลทีวี สายแลนอินเตอร์เน็ต และอื่น ๆ คุณสามารถทำพื้นที่ตรงนี้ให้ปลอดภัยได้ด้วยการใช้ยางป้องกันสายเคเบิ้ล เนื่องจากคุณสามารถเก็บสายต่าง ๆ ไว้ภายในยางได้ แถมยางดังกล่าวยังมีขนาดใหญ่ มีลักษณะเป็นหลังเต่ายอดราบ ด้านข้างทั้งสองลาดลงกับพื้น คล้ายลูกระนาด ผู้สูงอายุสามารถเหยียบบนยางได้อย่างปลอดภัย
      5. รอบเตียง
พื้นที่รอบเตียง หากแคบเกินไปอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ ส่วนงานเนอร์สเซอรี่ผู้สูงอายุของยุโรปได้กำหนดเอาไว้ว่ารอบเตียงจะต้องมีพื้นที่ว่างอย่างน้อย 90 เซนติเมตร เพื่อป้องกันการที่ผู้สูงวัยหมุนหรือขยับตัวในที่แคบแล้วล้มฟาดขอบเตียง ที่สำคัญเตียงของผู้สูงอายุควรมีความสูงประมาณ 40 เซนติเมตร เพื่อให้ผู้สูงวัยขึ้นเตียงได้ง่าย ไม่ว่าจะใช้รถเข็นหรือไม่ก็ตาม
      6. ยกพื้น
ยกพื้นทุก ๆ ยกพื้นเป็นจุดอันตรายอย่างยิ่งสำหรับผู้สูงอายุ เพราะกล้ามเนื้อของผู้สูงอายุไม่เหมือนคนหนุ่มสาว ทำให้ผู้สูงอายุโดยมากไม่สามารถยกเท้าสูง ๆ ได้ ดังนั้นจึงควรสร้างทางลาดข้างยกพื้น หรือใช้ยางปีนไต่ฟุตปาดแทนทางลาดก็ได้ เพราะยางดังกล่าวมีลักษณะเป็นพื้นลาดมีแรงเสียดทานสูง ป้องกันการลื่นล้มได้เป็นอย่างดี
      7. สวนหย่อม
บางครั้งในสวนอาจมีหลุมหรือบ่อเกิดขึ้น โดยอาจเกิดจากการขุดของสัตว์ หรือไม่ก็เกิดจากฝนตกชะดินเป็นแอ่ง บ่อยครั้งที่ผู้สูงอายุสะดุดหลุมบ่อเหล่านี้จนหกล้ม ผู้ดูแลจึงควรหมั่นกลบหลุมปรับพื้นที่ให้เรียบ หากหลุมใหญ่เกินไปอาจใช้โซ่พลาสติกและเสากั้นไม่ให้เข้าไปในบริเวณนั้นก็ได้
      8. ชานบ้าน
ชานบ้านที่อาจก่ออันตรายให้กับผู้สูงอายุ คือ ชานบ้านไม้ที่แผ่นไม้ไม่สม่ำเสมอ และชานบ้านปูกระเบื้อง สำหรับชานบ้านไม้ที่ไม้ไม่สม่ำเสมอ ไม่ควรให้ผู้สูงอายุออกมาเดินเพียงลำพัง ส่วนพื้นกระเบื้องต้องดูแลให้ผู้สูงอายุสวมรองเท้าที่มีดอกยางยึดพื้นได้ดี อย่าให้เดินเท้าเปล่า
      9. ถนนในสวนหย่อม
ผู้สูงอายุส่วนใหญ่มักหกล้มบริเวณรอยต่อระหว่างถนนกับพื้นสนามหญ้าในเวลาโพล้เพล้ เนื่องจากมองไม่เห็นเส้นทาง อาจแก้ได้ง่าย ๆ ด้วยการติดหมุดถนนอัจฉริยะ ที่ฝังเรียบไปกับพื้น ไม่มีส่วนนูนขึ้นมา แต่จะส่องแสงสว่างขึ้นจากพื้นเพื่อให้ผู้สูงอายุมองเห็นว่าบริเวณนี้เป็นถนน หมุดดังกล่าวเป็นหมุดถนนพลังงานแสงอาทิตย์ ส่องสว่างได้โดยไม่ต้องใช้ไฟฟ้า 100%
      10. บริเวณที่มีแสงสว่างไม่เพียงพอ
เนื่องจากผู้สูงอายุมีประสาทสัมผัสไม่ค่อยดี จึงไม่สามารถมองเห็นในที่ที่มีแสงสลัวได้ บริเวณนอกตัวบ้านจึงควรติดโคมไฟถนนพลังงานแสงอาทิตย์ ที่ไม่สิ้นเปลืองไฟฟ้าและส่องสว่างเองโดยอัตโนมัติเมื่อพระอาทิตย์ตกดิน สำหรับภายในบ้านอาจใช้เป็นหลอด Daylight เพื่อให้ผู้สูงอายุมองเห็นได้อย่างชัดเจน
      จบกันไปแล้วกับ 10 จุดอันตรายภายในบ้านสำหรับผู้สูงอายุ ไม่ว่าจะเป็นบันได ห้องครัว ห้องน้ำ สวน และมุมมืดต่าง ๆ แต่ถึงมันจะอันตรายแค่ไหนก็มีทางแก้ อย่าลืมทำ 10 จุดนี้ให้ปลอดภัย ด้วยอุปกรณ์ที่ซื้อหาได้ง่าย ๆ เพื่อผู้ใหญ่ในบ้านของคุณ และถ้าหากคุณไม่รู้จะซื้ออุปกรณ์เหล่านี้ที่ไหน มาเลือกซื้อที่เว็บไซต์ของร้านไทยจราจร

white_paper