แจกบทความฟรี
เจาะลึก ถังดับเพลิง มีกี่ชนิด แบบไหนเหมาะสำหรับติดตั้งภายในอาคารสำนักงาน
“รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง” หนึ่งในข้อคิดทางปรัชญาของ ซุนวู ปรมาจารย์ด้านพิชัยยุทธจากประเทศจีน แล้วปรัชญาดังกล่าวเกี่ยวข้องกับอะไรในการดับเพลิง? นั่นเพราะเพลิง อัคคีภัย หรือการเกิดไฟไหม้ ล้วนแล้วแต่มีความแตกต่างกัน ซึ่งแตกต่างกันอย่างไรนั้นไปหาคำตอบกัน
ไฟ เกิดจากอะไร?
โดยธรรมชาติของไฟแล้วจะประกอบไปด้วย 3 ส่วนหลัก ๆ ได้แก่
- เชื้อเพลิง คือ สิ่งที่สามารถติดไฟได้
- ความร้อน คือ อุณหภูมิที่เหมาะสมและเพียงพอให้เชื้อเพลิงติดไฟได้
- อากาศ คือ ปริมาณของก๊าซที่อยู่ในอากาศมีปริมาณที่เหมาะสม โดยจะมุ่งเน้นไปที่ก๊าซออกซิเจนซึ่งมีในอากาศ 21% อยู่แล้ว
หากทั้ง 3 ส่วนนี้มารวมตัวกันจะเกิดไฟขึ้น เมื่อเรารู้ถึงส่วนประกอบของไฟจะทำให้เราสามารถที่จะดับไฟได้นั่นเอง
ชนิดของไฟ
รู้หรือไม่ว่าเปลวไฟที่เกิดขึ้นนั้นมีคุณสมบัติและวิธีการดับแตกต่างกันตามชนิดของเชื้อเพลิงที่กำลังลุกไหม้นั้น โดยสามารถที่จะแบ่งชนิดของไฟออกได้ดังนี้
- ไฟประเภท A คือไฟที่เกิดจากมีเชื้อเพลิงเป็นของแข็ง เช่น ไม้ กระดาษ ผ้า นุ่น พลาสติก สามารถที่จะใช้น้ำเปล่าในการดับได้
2. ไฟประเภท B คือไฟที่เกิดจากของเหลวติดไฟ เช่น น้ำมัน จาระบี ก๊าซหุงต้ม จะต้องกำจัดปริมาณออกซิเจนในอากาศให้หมดก่อนจึงจะสามารถดับไฟได้
3. ไฟประเภท C คือไฟที่เกิดจากเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ยังมีกระแสไฟอยู่ เช่น แผงวงจรไฟฟ้า ไฟฟ้าลัดวงจร ควรตัดกระแสไฟฟ้าออกเสียก่อนจึงจะเข้าดับ
4. ไฟประเภท D คือไฟที่เกิดจากของแข็งหรือโลหะที่มีความไวไฟสูง เช่น แมกนีเซียม ซึ่งไฟประเภทนี้ห้ามใช้น้ำดับโดยเด็ดขาด เพราะจะทำให้เกิดการระเบิดอย่างรุนแรง
5. ไฟประเภท K คือไฟที่เกิดจากน้ำมันในการประกอบอาหาร ไขมันสัตว์ เป็นต้น
เห็นหรือยังว่าไฟแต่ละชนิดมีความแตกต่างกันเช่นไรและทำไมเราจึงควรรู้ชนิดของไฟ นั่นเพราะจะได้เลือกวัสดุหรืออุปกรณ์ที่ใช้ดับไฟแต่ละชนิดได้ หากไม่รู้ถึงชนิดของไฟแล้วนำน้ำไปดับนอกจากจะดับไม่ได้แล้ว อาจทำให้เกิดความเสียหายรุนแรงมากยิ่งขึ้นกว่าเดิมได้
ถังดับเพลิง มีกี่ปะเภท?
หลังจากที่รู้เกี่ยวกับชนิดของไฟกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ในลำดับต่อไปจะกล่าวถึงถังดับเพลิงที่เห็นติดตั้งตามสถานที่ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นถังสีแดง สีเขียว หัวกว้าง หัวแคบ แต่ละถังมีความแตกต่างกันอย่างไร และควรเลือกใช้ ถังดับเพลิง ชนิดใดให้เหมาะสมกับชนิดของไฟ
1. ถังดับเพลิงชนิดผงเคมีแห้ง
เป็นถังดับเพลิงที่บรรจุผงเคมีแห้งเพื่อใช้สำหรับดับไฟ โดยผงเคมีแห้งจะไปยับยั้งปฏิกิริยาการลุกไหม้ของไฟให้ดับลง ถังดับเพลิงแบบเคมีแห้งเมื่อฉีดออกมาจะเกิดฝุ่นผงฟุ้งกระจายเพื่อเข้าสกัดกั้นออกซิเจนที่อยู่ในอากาศบริเวณที่ลุกไหม้ เพื่อไม่ให้เชื้อเพลิงติดไฟได้อีก
ชนิดของไฟที่ดับได้ : ถังดับเพลิงชนิดผงเคมีแห้งมีความสามารถในการดับไฟชนิด A, B และ C นิยมใช้ตามบ้านเรือนทั่วไปหรือใช้ดับเพลิงบริเวณภายนอกอาคาร เนื่องจากการฟุ้งกระจายของผงเคมี
วิธีการตรวจสอบสถานะ : ถังดับเพลิงแบบผงเคมีแห้งจะมีมาตรวัดแรงดันบริเวณวาล์วด้านบน หากพบว่าเข็มวัดแรงดันตก ไม่อยู่ในตำแหน่งที่กำหนด จะต้องนำถังไปตรวจสภาพหรือเติมผงเคมีแห้งใหม่ เนื่องจากภายในถังนอกจากจะมีผงเคมีแห้งสำหรับดับเพลิงแล้ว ยังมีก๊าซสำหรับดันผงเคมีแห้งให้พุ่งออกจากถัง หากแรงดันตกจะทำให้ถังดับเพลิงไม่สามารถดับไฟได้ จำเป็นจะต้องได้รับการตรวจเช็กอย่างน้อยปีละครั้ง
2. ถังดับเพลิงชนิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
ถังดับเพลิงชนิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือที่รู้จักกันในชื่อของถัง CO2 ภายในจะบรรจุก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เมื่อฉีดออกมาจะมีไอเย็นปรากฏซึ่งมีความเย็นจัด บริเวณสายจะมีพลาสติกหรือยางหนาหุ้มเป็นที่จับเพื่อป้องกันความเย็น ผู้ใช้งานไม่ควรสัมผัสกับสายฉีดโดยตรงเพราะจะทำให้ได้รับอันตรายได้ ปลายสายจะเป็นรูปทรงกระบอกปากกว้าง
ชนิดของไฟที่ดับได้ : ถังดับเพลิง CO2 สามารถดับไฟชนิด B และ C นิยมใช้ดับไฟในอาคาร โรงงานที่จำกัดเรื่องฝุ่นผงหรืออุตสาหกรรมห้องเย็น เป็นต้น เพราะไม่ทิ้งฝุ่นผง เมื่อดับเสร็จก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะสลายไปในอากาศเอง
วิธีการตรวจสอบสถานะ : ใช้การชั่งน้ำหนัก เนื่องจากถัง CO2 ไม่มีวาล์ว หากเปิดใช้งานแล้วจะต้องใช้ให้หมด เพราะหากปล่อยไว้แล้วนำมาฉีดใหม่จะไม่สามารถใช้งานได้อีก
3. ถังดับเพลิงชนิดน้ำยาเหลวระเหย
ถังดับเพลิงชนิดนี้จะมีสีเขียวแตกต่างจากถังดับเพลิง 2 ชนิดแรกที่กล่าวมาข้างต้น ภายในบรรจุสารเคมีเหลวที่สามารถระเหยได้ มีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด ได้แก่ BF2000 และฮาโลตรอน นิยมใช้ในห้องคอมพิวเตอร์ โรงพยาบาล ที่เน้นความสะอาดเป็นหลัก เนื่องจากเมื่อฉีดพ่นดับไฟเสร็จแล้วจะระเหยในทันที ไม่ทิ้งคราบสกปรกไว้ ซึ่งถังชนิดนี้จะมีราคาค่อนข้างแพง โดยเฉพาะก๊าซฮาโลตรอนจะมีราคาสูงกว่า BF2000
ชนิดของไฟที่ดับได้ : ถังดับเพลิงชนิดน้ำยาเหลวระเหย สามารถดับไฟชนิด A, B และ C ได้
วิธีการตรวจสอบสถานะ : ถังดับเพลิงชนิดน้ำยาเหลวระเหยจะมีวิธีในการตรวจสอบแบบถังเคมีแห้ง เพราะมีวาล์ววัดแรงดันบริเวณคอถังเพื่อตรวจเช็กระดับแรงดันให้อยู่ปกติ หากพบว่าเข็มวัดแรงดันตกให้ทำการส่งตรวจสอบหรืออัดน้ำยาใหม่
4. ถังดับเพลิงชนิดโฟม
ถังดับเพลิงชนิดโฟมเป็นถังสแตนเลส สีเงินเงา ภายในบรรจุโฟมสำหรับดับเพลิง เมื่อฉีดออกไปโฟมจะทำหน้าที่ในการปกคลุมเชื้อเพลิงเพื่อตัดก๊าซออกซิเจนออกไม่ให้เกิดการเผาไหม้ ลดความร้อนได้ดี เหมาะสำหรับการฉีดเพื่อปกปิดของเหลวที่เป็นเชื้อเพลิงหรือสารระเหยติดไฟ
ชนิดของไฟที่ดับได้ : ถังดับเพลิงชนิดโฟมสามารถดับไฟชนิด A และ B ได้ ไม่สามารถนำไปใช้กับไฟชนิด C ได้ เพราะโฟมสามารถนำไฟฟ้าจึงเป็นอันตรายต่อผู้ใช้งาน รวมไปถึงไฟ K ที่กำลังอยู่ในสถานะร้อนจัด เพราะอาจทำให้เกิดการระเบิดได้
วิธีการตรวจสอบสถานะ : ถังดับเพลิงชนิดโฟม ใช้วิธีการตรวจสอบแบบเดียวกับถัง CO2 นั่นคือการชั่งน้ำหนัก หากน้ำหนักต่ำกว่า 20% ของน้ำหนักถังบรรจุใหม่ ควรส่งบรรจุโฟมใหม่และจดบันทึกน้ำหนักทุกครั้งที่ส่งคืนกลับมา
5. ถังดับเพลิงชนิดเคมีน้ำ (Wet Chemical Class K)
เป็นถังดับเพลิงชนิดพิเศษที่บรรจุสารเคมี Potassium Acetate เพื่อใช้สำหรับดับไฟชนิด K ที่เป็นไขมันสัตว์หรือน้ำมันสำหรับประกอบอาหาร เหมาะกับร้านอาหาร ภัตตาคาร หรือห้องครัวโดยเฉพาะ
ชนิดของไฟที่ดับได้ : ไฟชนิด A, B, C และ K ส่วนใหญ่จะใช้ดับไฟ K เพราะจะคุ้มค่ามากกว่า
วิธีการตรวจสอบสถานะ : ถังดับเพลิงชนิดเคมีน้ำจะมีวาล์วแรงดันไว้คอยตรวจสอบ เหมือนถังดับเพลิงชนิดผงเคมีแห้ง ดังนั้นจึงใช้วิธีการตรวจสอบแรงดันที่วาล์ว
สิ่งที่ควรปฏิบัติเมื่อได้รับแจ้งว่าเกิดเพลิงไหม้
- หากได้รับการอบรมเกี่ยวกับดับเพลิงเบื้องต้นให้ใช้ถังดับเพลิงเข้าดับไฟเบื้องต้น หากไม่สามารถดับได้หรือไม่มั่นใจว่าดับได้ให้รีบอพยพโดยด่วน
- ก่อนหนีไฟ ควรมั่นใจว่าคนในบ้าน เด็ก ๆ ทั้งหลายจะไม่ถูกทิ้งไว้
- ควรใช้ทางออกฉุกเฉินหรือทางหนีไฟ ไม่ควรใช้ลิฟต์ในการหนีไฟ
- หากติดอยู่ในห้องและมีควันไฟจำนวนมาก ให้ใช้วิธีการคลานต่ำเพื่อหาทางออกหรือไปยังหน้าต่างที่ใกล้ที่สุดเพื่อขอความช่วยเหลือ
- อย่าพยายามกระโดดหนีไฟจากที่สูง เพราะอาจได้รับบาดเจ็บจนถึงขั้นเสียชีวิตได้
- เข้ารับการอบรมการอพยพและดับเพลิงเบื้องต้นอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อฝึกและทบทวนความรู้ โดยเฉพาะ อปพร. ที่ต้องเข้ารับการฝึกอบรมในเรื่องของการดับเพลิงเบื้องต้น
สำหรับบริษัท หน่วยงาน หรือเจ้าของบ้านต้องการที่จะซื้อถังดับเพลิงไว้ใช้งานให้เลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองจาก มอก.หรือมาตรฐานสากลอื่น ๆ หรือสัญลักษณ์ UL และควรเลือกซื้อให้เหมาะกับเชื้อเพลิงที่จะนำไปใช้งาน
นอกจากถังดับเพลิงที่ควรมีติดบ้าน อาคาร และโรงงานตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว ยังต้องมีในส่วนของไฟฉุกเฉิน ป้ายเตือน และอุปกรณ์อื่น ๆ ที่จำเป็นสำหรับการดับเพลิงหรือเพื่อการอพยพหนีไฟ ร้านไทยจราจร หนึ่งในผู้จำหน่ายอุปกรณ์ความปลอดภัย ป้ายจราจร และอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล ยินดีให้บริการด้วยด้วยทีมงานมืออาชีพ เปิดให้บริการมากกว่า 10 ปี
ที่มาข้อมูล
- https://www.harn.co.th/articles/types-of-fire-extinquishers/
- https://santofire.co.th/types-and-colors-of-fire-extinquishers/