5 ข้อที่ต้องรู้ ก่อนเลือกซื้อ ถังดับเพลิงมาใช้งาน

ถังดับเพลิง

ถังดับเพลิงคืออุปกรณ์สำหรับดับไฟ โดยใช้สารเคมีบรรจุอยู่ภายในตัวถัง อาคารสถานที่ต่าง ๆ นิยมนำไปใช้งานหลากหลาย นอกจากการติดตั้งบนผนังแล้วยังสามารถวางไว้กับป้ายสแตนเลสถังดับเพลิงได้ ซึ่งถังดับเพลิงนั้นมีอยู่หลายประเภท แต่ละประเภทก็จะมีคุณสมบัติในการดับเพลิงแต่ละประเภทแตกต่างกัน เพราะปัจจัยมีการเกิดเพลิงไหม้แต่ละครั้งนั้นมีอยู่ 3 ปัจจัยได้แก่ เชื้อเพลิง ออกซิเจน และความร้อน ซึ่งประเภทของเชื้อเพลิงจะเป็นตัวแปรสำคัญในการกำหนดประเภทของถังดับเพลิงด้วย นอกจากนี้ถังดับเพลิงยังเป็นอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษา รายละเอียดที่น่าสนใจเหล่านี้ ทางร้านไทยจราจรขออธิบายรายละเอียดสำคัญที่เกี่ยวข้องกับอุปกรณ์ชนิดนี้ตามรายละเอียดต่อไปนี้

1. ถังดับเพลิงมีหลายประเภท หากสังเกตให้ดีจะพบว่าถังดับเพลิงนั้นมีหลายสี มีรูปทรงหลายแบบ ซึ่งประเภทของถังดับเพลิงนั้นมีดังต่อไปนี้

1.1   ถังดับเพลิงประเภทผงเคมีแห้ง (Dry Chemical Extinguishers) เป็นถังดับเพลิงที่ใช้ผงเคมีแห้งและก๊าซไนโตรเจนเพื่อให้เกิดปฏิกิริยาทางเคมีในการระงับเหตุเพลิงไหม้อย่างมีประสิทธิภาพ หลักการทำงานคือการปล่อยสารเคมีออกมากในรูปแบบของฝุ่นละอองเพื่อขัดขวางการลุกไหม้ระหว่างออกซิเจนและเชื้อเพลิง เหมาะสำหรับใช้ดับเพลิงได้หลายรูปแบบ ทั้งเพลิงไหม้ประเภทเชื้อเพลิงของแข็งธรรมดาอย่างเศษไม้ เศษผ้า หรือเศษกระดาษ เชื้อเพลิงประเภทของเหลวติดไฟ อาทิน้ำมัน หรือสารเคมีไวไฟชนิดต่าง ๆ และเพลิงไหม้ที่เกิดจากอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ยังมีกระแสไฟฟ้า ถังดับเพลิงประเภทนี้จึงเหมาะใช้งานทั่วไปทั้งอาคารที่พักอาศัย บ้าน หรือโรงงานอุตสาหกรรม

1.2   ถังดับเพลิงประเภทน้ำยา Halogen ถังดับเพลิงที่ใช้สารเคมีเหลวที่มีความเย็นจัด เมื่อฉีดพ่นจะระเหยกลายเป็นไอทันที ดับเพลิงด้วยการกำจัดความร้อนและขัดขวางการเผาไหม้ของออกซิเจน ไม่เป็นสื่อนำไฟฟ้าและไม่ทิ้งคราบสกปรกหลังใช้งาน สามารถดับเพลิงไหม้ได้ทั้งจากเชื้อเพลิงของแข็ง ของเหลว เชื้อเพลิงที่มีสื่อไฟฟ้า และเชื้อเพลิงที่มาจากไขมันอาหาร เหมาะสำหรับห้องที่มีอุปกรณ์ละเอียดอ่อน อย่างคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ บนยานพาหนะอย่างเรือ หรือเครื่องบิน

1.3   ถังดับเพลิงชนิดโฟม ถังดับเพลิงเนื้อโฟมที่สามารถกระจายปกคลุมเพลิงที่ลุกไหม้ เกิดการขาดออกซิเจนและลดความร้อน ใช้ดับเพลิงจากเชื้อเพลิงของแข็ง และของเหลวได้ แต่ไม่สามารถดับเพลิงที่มีสื่อไฟฟ้าได้ เนื่องจากโฟมมีลักษณะของสื่อนำไฟฟ้า เหมาะกับอาคารภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับเชื้อเพลิง หรือสารไวไฟ อาคารที่พักอาศัย และปั๊มน้ำมัน

1.4   ถังดับเพลิงชนิดประเภทก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เมื่อฉีดก๊าซออกมาจะมีลักษณะเป็นไอเย็นจัดคล้ายน้ำแข็งแห้ง ช่วยลดความร้อนและดับไฟได้อย่างรวดเร็ว ไม่ทิ้งคราบสกปรกไว้ สามารถใช้ดับเพลิงจากเชื้อเพลิงของเหลว และที่มีสื่อไฟฟ้าได้ดี เหมาะสำหรับอาคารการผลิตขนาดใหญ่

1.5   ถังดับเพลิงประเภท BF2000 เป็นน้ำยาลักษณะของสารระเหยที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ใช้ดับเพลิงจากเชื้อเพลิงของแข็ง ของเหลว มีสื่อไฟฟ้า และเชื้อเพลิงจากโลหะได้ เป็นน้ำยาที่ไม่ทำลายสิ่งของหรือเครื่องใช้ใด ๆ เหมาะกับบริเวณที่มีความละเอียดอ่อน อย่างห้องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์สื่อสาร หรือเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์

2. มาตรฐานการติดตั้ง ถังดับเพลิงก็เป็นเช่นเดียวกับอุปกรณ์ดับเพลิงชนิดอื่น ๆ ที่มีกำหนดข้อบังคับตามกฎหมายพระราชบัญญัติความปลอดภัยที่จะกำหนดให้อาคารแต่ละประเภท หรือพื้นที่ทุก ๆ ขนาด 100 ตารางเมตร จะต้องมีการติดตั้งถังดับเพลิงอย่างน้อย 1 ถัง การติดตั้งถังดับเพลิงต้องสูงไม่เกิน 150 ซม. และบริเวณที่ติดตั้งควรมีการใช้ ไฟฉุกเฉิน เพื่อเพิ่มแสงสว่างในระหว่างเกิดเหตุฉุกเฉิน หรือติดป้ายสัญลักษณ์ที่มองเห็นได้ง่าย เป็นต้น

3. การดูแลรักษา หลายคนมักเข้าใจผิดว่าการใช้งานถังดับเพลิงนั้นสามารถใช้งานได้ยาวานหลายปี และตลอดอายุการใช้งานนั้นไม่มีความจำเป็นที่จะต้องดูแลรักษาใด ๆ ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะถังดับเพลิงหลายชนิดจะต้องมีการตรวจสอบมาตรวัดความดันที่ติดมากับตัวถังอย่างน้อยเดือนละครั้ง เพื่อตรวจสอบว่าสารเคมีที่บรรจุอยู่ภายในถังยังมีสภาพที่พร้อมใช้งานอยู่เสมอ และถังเคมีแบบสารเคมีแห้งยังต้องตรวจสอบด้วยว่าสารภายในถังมีการจับตัวเป็นก้อนหรือไม่ ด้วยการจับถังตะแคงซ้ายขวา ดูว่าสารเคมีภายในมีการไหลเวียนหรือไม่ เพราะมีอายุการใช้งานของสารเคมีอยู่ที่ 5 – 10 ปีเท่านั้น

4. การฝึกซ้อมเพื่อให้ใช้งานได้อย่างถูกต้อง การใช้งานถังดับเพลิงแต่ละประเภทจะมีรายละเอียดการใช้งานที่แตกต่างกันไป จึงจำเป็นต้องให้ผู้ที่อาศัยอยู่ภายในอาคารมีการซ้อมใช้อุปกรณ์ดับเพลิงที่มีอยู่ภายในอาคารนั้น ๆ อย่างเหมาะสมและเพียงพอ เพื่อให้มั่นใจว่าในสถานการณ์ฉุกเฉินนั้น ๆ ทุกคนจะสามารถใช้อุปกรณ์ระวังเหตุได้อย่างทันท่วงที

5. มาตรฐานของถังดับเพลิง ถังดับเพลิงนั้นมีการควบคุมคุณภาพตามมาตรฐานอุตสาหกรรมฉบับที่ 332 – 2537 ซึ่งจะมีการควบคุมประสิทธิภาพและความสามารถในการดับเพลิงเป็นสัญลักษณ์ไว้ที่ข้างถัง อย่างตัวอักษร A แสดงถึงความสามารถในการดับเพลิงเชื้อเพลิงประเภทของแข็ง ซึ่งจะมีตัวอักษร A, B, C, D และ K และประสิทธิภาพการดับเพลิงอย่าง 1A หมายถึงสามารถดับไฟของกองไม้ 50 ชิ้น สูง 10 ชั้น แต่หากระบุว่า 2A แสดงว่าสามารถดับไฟของกองไม้ 78 ชิ้น สูง 13 ชั้นได้ เป็นต้น

ดังนั้นทางร้านไทยจราจรขอแนะนำว่าเมื่อต้องการนำถังดับเพลิงไปใช้งาน จึงควรศึกษารายละเอียดต่าง ๆ เหล่านี้ให้ดี เพื่อให้ใช้งานได้อย่างเหมาะสม สอดคล้องตามที่กฎหมายกำหนด การใช้งานถังดับเพลิงยังสามารถใช้ร่วมกับอุปกรณ์อื่น ๆ อย่างป้ายทางออกฉุกเฉิน สายยางดับเพลิง หรือไซเรนมือหมุนได้ สามารถนำมาซ้อมใช้งานร่วมกันเพื่อประสิทธิภาพในการเตรียมพร้อมต่อสถานการณ์ฉุกเฉินได้เป็นอย่างดี