แจกบทความฟรี
10 ขั้นตอน ลดฝุ่น PM 2.5 ที่ใช้ได้จริงในต่างประเทศ
หากให้พูดถึงประเด็นร้อนที่กำลังอยู่ในความสนใจของผู้คนทั่วโลก คงหนีไม่พ้นเรื่องของฝุ่นละออง PM 2.5 ที่ล่องลอยอยู่ในอากาศขณะนี้ เจ้าฝุ่นละอองตัวร้ายที่มีอิทธิพลมากถึงขนาดทำให้คนไทยในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมากกว่าครึ่งหันมาใส่ หน้ากากป้องกันฝุ่น N95 นั้นแสดงว่าฝุ่นละออง PM 2.5 นี้ไม่ใช่เรื่องธรรมดาอีกต่อไป
ร้านไทยจราจร ขออธิบายก่อนว่า PM 2.5 เป็นฝุ่นละอองขนาดเล็กที่มีขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือเทียบเท่ากับขนาดประมาณ 1 ส่วนใน 25 ส่วนของเส้นผ่านศูนย์กลางเส้นผมมนุษย์ โดยมีต้นกำเนิดจากควันหรือการเผาไหม้เชื้อเพลิงไม่ว่าจะเป็น การผลิตไฟฟ้า ถ่านหิน โรงงานอุตสาหกรรม หรือแม้กระทั่งควันเสียจากท่อรถยนต์ ส่งผลถึงระบบทางเดินหายใจ กระแสเลือด และอวัยวะอื่น ๆ ของร่างกาย เสี่ยงต่อการเกิดโรคทางเดินหายใจและมะเร็งได้ ซึ่งวิธีการแก้ไขหลัก ๆ ต้องพยายามลดการกระทำหรือพฤติกรรมใดที่ก่อให้เกิดควันพิษในอากาศ เหมือนอย่างที่ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาอยู่ในขณะนี้ ก็เลือกที่จะใช้วิธีการฉีดพ่นน้ำขึ้นไปในอากาศ ประกอบกับการทำฝนหลวง เพื่อลดปริมาณฝุ่นละอองให้ความรู้ประชาชนสวม หน้ากากป้องกันฝุ่น N95 ถือได้ว่าสามารถช่วยแก้ไขปัญหาได้ในระดับหนึ่งแต่นั่นก็ยังไม่ใช่ทางออกของปัญหาที่แท้จริง
ซึ่งปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ดังกล่าว ไม่ได้เป็นเพียงปัญหาใหม่ที่เพิ่งจะเกิดขึ้นบนโลกใบนี้ แต่ปัญหานี้เป็นปัญหาที่ต่างประเทศทั่วโลกต่างก็เคยประสบปัญหานี้กันมาบ้างแล้ว แต่พวกเขามีวิธีการแก้ไขที่แตกต่างกันออกไป ดังนี้
- สั่งให้ดำเนินการยกเลิกหรือปิดโรงงานถ่านหิน
ในประเทศจีนมีการใช้มาตรการขั้นเด็ดขาดในการสั่งให้ปิดโรงงานถ่านหิน และผลักดันให้ประชาชนหันมาใช้พลังงานสะอาดแทน โดยประกาศมาตรการในการเก็บภาษีอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จำนวน 12 หยวนต่อหน่วยของการปล่อยมลพิษทางอากาศ ทุกคนจึงเกิดความตระหนักในการใช้พลังงานที่อาจจะส่งผลในการปล่อยมลพิษมากยิ่งขึ้น แต่นั้นก็ทำให้ค่า PM ในประเทศจีนลดลงถึง 3.5 ต่อปีเลยทีเดียว
- จัดตั้งทีมขจัดมลพิษ
ก็ยังคงเป็นประเทศจีนที่ให้ความสำคัญกับการขจัดมลพิษทางอากาศอย่างแท้จริง โดยใช้วิธีการการจัดตั้งทีมงานที่มีหน้าที่ขจัดมลพิษทางอากาศ หรือที่เรียกว่า Smog Squad ซึ่งจะทำหน้าที่ในการตระเวนตรวจบริเวณพื้นที่ในเมือง และห้ามปรามหรือตักเตือนพลเมืองในประเทศไม่ให้มีการปิ้งย่าง หรือการกระทำใดที่ก่อให้เกิดควันในที่แจ้ง
- ห้ามแท็กซี่ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลวิ่งให้บริการ
ข้อนี้ถือเป็นข้อห้ามเด็ดขาดของประเทศอินเดีย เพื่อช่วยลดปัญหาฝุ่นควันที่เป็นมลพิษทางอากาศ ซึ่งเครื่องยนต์ดีเซล ถือเป็นตัวการสำคัญที่ก่อให้เกิดมลพิษ เนื่องจากระบบการทำงานของเครื่องยนต์ที่จะมีการเผาไหม้ได้อย่างง่ายดายเมื่อมีการขับเคลื่อน และการเผาไหม้นั้นจะออกมาในรูปแบบของควันเสียลอยอยู่ในชั้นบรรยากาศ
- สั่งห้ามรถที่มีอายุการใช้งานเกินกำหนดเข้าเมือง
ในเมืองปารีส ประเทศฝรั่งเศส เลือกใช้วิธีการสั่งห้ามรถยนต์ที่มีการผลิตก่อนปี 1997 และรถยนต์ที่ใช้เครื่องเซลที่ขึ้นทะเบียนก่อนปี 2001 เข้าไปยังพื้นที่บริเวณใจกลางเมือง ในช่วงวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 08.00-20.00 น. เพื่อพยายามผลักดันให้ประชาชนใส่ใจและเลือกเดินทางด้วยวิธีการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น
- จำกัดรถยนต์ในการวิ่งเข้าเขตควบคุม
กรุงมาดริด ประเทศสเปน ใช้วิธีมาตรการจำกัดสิทธิรถยนต์ที่จะสามารถวิ่งเข้าในพื้นที่ควบคุมคุณภาพอากาศ ย่านใจกลางกรุงมาดริด โดยกำหนดมาตรการให้ผู้ใช้รถต้องนำรถยนต์ไปเข้ารับการตรวจวัดปริมาณการปล่อยควันเสีย และหันมาให้ความสำคัญกับการใช้รถยนต์ไฮบริดมากยิ่งขึ้น
- ห้ามจอดรถยนต์ใกล้บริเวณที่พัก
ถือว่าเป็นมาตรการที่ค่อนข้างแปลกแต่กลับได้ผลจริงของประเทศเยอรมนี ที่ห้ามไม่ให้จอดรถยนต์ในบริเวณที่ใกล้กับบ้านพัก ทำให้ผู้ใช้รถยนต์จะต้องไปหาเช่าพื้นที่สำหรับจอดรถซึ่งมีราคาที่ค่อนข้างสูง จึงส่งผลให้อัตราการซื้อรถยนต์ลดน้อยลง มลพิษภายในอากาศจึงมีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยลงอีกด้วย เรียกได้ว่าเป็นกลยุทธ์ที่แยบยลเสียจริง น่าจะนำวิธีนี้มาทดลองใช้ในประเทศไทยดูบ้าง แต่ก็ต้องติดตั้ง ป้ายจราจร กำกับไว้ให้ชัดเจนด้วย
- ห้ามขายเชื้อเพลิง
รัฐบาลอังกฤษเริ่มมีการเจรจาหารือเกี่ยวกับการใช้เชื้อเพลิงของพลเมือง ด้วยวิธีการห้ามไม่ให้มีการขายเชื้อเพลิงที่ก่อให้เกิดมลพิษสำหรับใช้ในครัวเรือน โดยตั้งเป้าว่าตั้งแต่ปี 2022 เป็นต้นไป เตาหุงต้มอาหารที่ใช้ในครัวเรือนจะต้องเป็นประเภทที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษ เนื่องจากปัญหาหลักในขณะนี้ คือการเผาไหม้เชื้อเพลิงจากไม้และถ่านหินในครัวเรือนมากที่สุด
- บริการขนส่งมวลชนฟรี
เกาหลีใต้มีการกำหนดมาตรการฉุกเฉินในช่วงเร่งด่วน ด้วยวิธีการประกาศให้ใช้วิธีการเดินทางโดยรถบริการขนส่งมวลชนฟรี เพื่อเป็นดึงดูดให้พลเมืองเลือกการเดินทางด้วยรถสาธารณะมากกว่าการใช้รถยนต์ ทำให้รถยนต์บนท้องถนนลดลงอย่างเห็นได้ชัด นั่นหมายความว่าฝุ่นละอองจากควันพิษรถยนต์ก็จะลดลงไปด้วย
- บินตรวจตราโรงงานอุตสาหกรรม
นอกจากเกาหลีใต้จะสนับสนุนการใช้บริการขนส่งมวลชนฟรีแล้ว มาตรการนำร่องโดยใช้โดรนบินตรวจตราพื้นที่แถบชานเมืองกรุงโซล เพื่อสำรวจพฤติกรรมการลักลอบปล่อยควันเสียและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ยังเป็นอีกหนึ่งวิธีที่เกาหลีใต้ใช้ในการลดปัญหามลพิษในอากาศอีกด้วย
- รณรงค์การใช้จักรยาน
ต้องบอกเลยว่าวิธีการนี้คงไม่ได้มีแต่ในต่างประเทศเพียงเท่านั้น ประเทศไทยก็ยังให้ความสำคัญไม่น้อย สำหรับการรณรงค์ให้พลเมืองหันมาปั่นจักรยานแทนการใช้รถยนต์ เพราะนอกจากจะช่วยลดฝุ่นละอองในอากาศได้แล้ว ยังเสริมสร้างสุขภาพที่แข็งแรงได้ด้วย ทั้งนี้ควรเตรียม ที่จอดรถจักรยาน ที่ได้มาตรฐานไว้หลาย ๆ จุดด้วย
จะเห็นได้ว่า เรื่องฝุ่นละอองหรือควันพิษที่ลอยอยู่ในอากาศนี้ไม่ใช่เรื่องเล็กหรือเรื่องส่วนบุคคลของใครคนใดคนหนึ่งอีกต่อไป แต่มันคือปัญหาระดับประเทศที่ทุกคนจะต้องมาให้ความใส่ใจและร่วมมือกันขจัดปัญหาดังกล่าว ร้านไทยจราจร ขอเพียงให้ทุกคนช่วยกันคนไม้คนละมือ เพียงเท่านี้ก็จะทำให้ประเทศและโลกใบนี้น่าอยู่มากยิ่งขึ้น
ปรึกษาสินค้าและบริการ ฟรี! โทร 02-114-7006