ป้ายจราจรมีกี่เกรด และแต่ละเกรดใช้กับงานอะไรบ้าง?

ป้ายจราจร

เมื่อพูดถึงป้ายจราจร คุณคงพอจะรู้มาบ้าง ว่าเป็นป้ายที่ใช้เพื่อการสั่ง หรือเตือนผู้ขับขี่รถยนต์ที่ขับรถผ่านไปผ่านมาบนถนนเส้นนั้น ในอาคารสถานที่บางแห่ง ยังมีการนำป้ายจราจรนี้ไปใช้งาน เพื่อจัดการจราจรในอาคารนั้นให้เป็นไปอย่างมีระเบียบอีกด้วย

แต่สำหรับผู้ใช้รถใช้ถนนทั่วไปอย่างคุณ เมื่อเห็นป้ายจราจรที่ติดตั้งอยู่ในสถานที่แต่ละแห่ง อาจจะรู้สึกว่าป้ายเหล่านั้นก็มีลักษณะเหมือนกันหมด ไม่เห็นว่าจะมีสิ่งใดแตกต่าง รู้หรือไม่ว่าที่จริงแล้ว ป้ายจราจรที่คุณเห็นว่าเหมือนกัน ความจริงแล้วอาจจะไม่ได้มีเกรดเดียวกันก็ได้ ซึ่งในวันนี้ ร้านไทยจราจร จะขอพาคุณไปดูกันว่า ป้ายจราจรมีกี่เกรด แล้วแต่ละเกรดใช้ทำอะไรบ้าง เผื่อว่าในอนาคต ถ้าคุณได้ไปเห็นป้ายจราจรตามสถานที่ต่าง ๆ คุณจะได้พอคาดเดาได้ว่าเป็นป้ายเกรดใด

ป้ายจราจรที่มีการผลิตออกมาในปัจจุบันนั้น สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 เกรด ได้แก่

  1. Commercial Grade
  2. Engineer Grade
  3. Diamond Grade
ป้ายจราจร

เริ่มจากเกรดแรกก่อน Commercial Grade เป็นเกรดขั้นต่ำสุดของป้ายจราจร ที่บอกว่าขั้นต่ำนี้ไม่ได้หมายถึงคุณภาพวัสดุแต่อย่างใด แต่หมายถึงค่าสัมประสิทธิ์การสะท้อนแสง โดยก่อนอื่นต้องขอบอกว่าป้ายจราจรทุกชนิด จะต้องมีการติดตั้งวัสดุที่สามารถสะท้อนแสงได้เข้าไว้ในตัวเพื่อประโยชน์ในการใช้งานด้วย ซึ่งในป้ายแต่ละเกรดจะมีค่าสัมประสิทธิ์การสะท้อนแสงต่างกัน อย่าง Commercial Grade ถือเป็นป้ายที่มีค่าสัมประสิทธิ์การสะท้อนแสงต่ำที่สุด ถึงแม้ดูเผิน ๆ ประสิทธิภาพการสะท้อนแสงจะไม่ได้แตกต่างจากป้ายเกรดอื่นเท่าไร แต่มีอายุการสะท้อนแสงสั้น คืออยู่ที่ไม่เกิน 1 ปีเท่านั้น ป้ายชนิดนี้จึงเหมาะกับการใช้งานในสถานที่ที่ไม่กว้างมาก เป็นเขตควบคุม อย่างเช่นในโกดังสินค้า ในโรงงานที่ต้องมีการนำรถบรรทุกเข้าออกอยู่ตลอด รวมไปถึงอาคารจอดรถต่าง ๆ ด้วย เหตุผลก็เพราะป้ายเกรดนี้มีราคาไม่แพงมาก และด้วยความที่พื้นที่ติดตั้งป้ายนั้นจำกัดอยู่แล้ว จึงไม่ต้องให้ความสำคัญกับค่าสัมประสิทธิ์การสะท้อนแสงมากนัก

ป้ายจราจร

ป้ายเกรดต่อมา คือ Engineer Grade เป็นป้ายที่เกรดสูงขึ้นมาจากแบบ Commercial เล็กน้อย มีค่าสัมประสิทธิ์การสะท้อนแสงอยู่ในระดับกลาง ๆ อายุการสะท้อนแสงอยู่ที่ 5 ปี ด้วยความที่ป้ายนี้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นมาเล็กน้อย อีกทั้งตัวป้ายนั้นมีราคาไม่แพงมาก ทำให้เป็นป้ายที่ได้รับความนิยมในการใช้งานมากที่สุด ส่วนใหญ่เราจะพบเห็นป้ายเกรดนี้ได้ตามท้องถนน หรือตามสถานที่สำคัญต่าง ๆ ที่ต้องมีการควบคุมการจราจรอย่างเข้มงวด เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าคุณขับรถไปตามท้องถนน แล้วเห็นป้ายจราจร ให้สันนิษฐานเอาไว้ได้เลยว่าเป็นป้ายเกกรด Engineer แน่ ๆ

ป้ายเกรดสุดท้าย คือ Diamond Grade เป็นป้ายที่เรียกได้ว่าดีที่สุดสมกับชื่อ Diamond จริง ๆ มีค่าสัมประสิทธิ์การสะท้อนแสงสูงที่สุด หากคุณลองมองป้ายจราจรเกรดนี้ผ่านแสงดู จะเห็นได้ว่าป้ายจะสะท้อนแสงออกมาในรูปของรวงผึ้งเลยทีเดียว นอกจากนี้ ยังเป็นป้ายที่มีอายุการใช้งานยาวนานที่สุด คืออยู่ที่ 5 ปีขึ้นไป ป้ายบางรุ่นอาจมีอายุการใช้งานยาวนานถึง 10 ปีเลยทีเดียว อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่ป้ายชนิดนี้เป็นป้ายที่มีประสิทธิภาพสูง ทำให้มีกระบวนการผลิตที่ยุ่งยาก ใช้ต้นทุนสูง เมื่อป้ายออกวางจำหน่ายบนท้องตลาด จึงกลายเป็นป้ายที่มีราคาแพงที่สุดด้วย ในปัจจุบัน ป้ายเกรดนี้เป็นป้ายที่ไม่ค่อยได้รับความนิยมในการใช้งานเท่าไร เนื่องจากมีราคาแพงดังที่กล่าวไป แต่ก็ยังพบว่ามีการใช้งานอยู่บ้าง โดยเฉพาะบนถนนที่เป็นจุดอันตรายอย่างทางตัดผ่านเขา ตัดผ่านเหว จำเป็นต้องใช้ป้ายที่มีคุณภาพสูง สะท้อนแสงได้มาก เพื่อเตือนให้รถที่ขับผ่านไปผ่านมาได้อย่างทันท่วงที รวมถึงต้องการป้ายที่มีความคงทนสูง เพราะการจะเข้าไปซ่อมแซมหรือติดตั้งป้ายใหม่ทำได้ยากลำบาก

เกรดของป้ายจราจร โดยทั่วไปก็จะมีอยู่ 3 ป้ายหลัก ๆ เพียงเท่านี้ หวังว่าเมื่อคุณผู้อ่านได้อ่านจนจบ คงพอจะรู้แล้วว่าป้ายแต่ละเกรดแตกต่างกันอย่างไร และป้ายแต่ละเกรดถูกนำไปใช้ในกรณีใดบ้าง อย่างไรก็ตาม การเลือกใช้ป้ายจราจรก็ไม่มีกฎตายตัว ว่าป้ายเกรดนี้จะต้องใช้กับงานนี้เท่านั้น เพราะในบางครั้งก็มีการใช้งานสลับกัน ยกตัวอย่างเช่น บางโรงงานที่ต้องการความปลอดภัยในสถานที่แบบขั้นสุด ต้องการป้ายจราจรที่สามารถใช้งานได้นาน ไม่ต้องเปลืองงบซ่อมแซมเปลี่ยนใหม่บ่อย ๆ ก็อาจจะใช้ป้ายเกรด Engineer หรือบนถนนบางสาย ที่ต้องการติดตั้งป้ายจราจรชั่วคราว ก่อนจะเบิกงบมาเพื่อจัดซื้อป้ายรุ่นถาวรมาใช้ต่อไป ก็อาจจะนำป้ายรุ่น Commercial Grade มาใช้ไปพลางก่อนก็ได้ แต่ไม่ว่าจะเป็นป้ายเกรดใดก็ตาม ร้านไทยจราจรก็ขอยืนยันว่า ล้วนแต่เป็นป้ายที่ช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับท้องถนน อาคารสถานที่ และช่วยให้การจัดการจราจรทำได้อย่างเป็นระเบียบมากขึ้นจริง ๆ

นอกจากป้ายจราจรจะมีหลายเกรดให้คุณได้เลือกจัดซื้อแล้ว ในป้ายบางรุ่นก็ยังมีฟังก์ชั่นเสริมอื่น ๆ อย่างไฟกระพริบในตัว หรืออุปกรณ์จับความเร็วในตัวอีกด้วย ขอให้คุณเลือกใช้ให้เหมาะสม หากจำเป็นต้องใช้รุ่นที่มีฟังก์ชั่นเสริม ก็ขอให้จัดซื้อมาใช้ เพื่อให้การจัดการจราจรทำได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป