แจกบทความฟรี
9 ขั้นตอน การวิเคราะห์ความปลอดภัยบนท้องถนน ในสถานที่ของคุณ
เมื่อใกล้เข้าสู่ช่วงเทศกาล หรือช่วงวันหยุดยาว อัตราการเกิดอุบัติเหตุในประเทศไทยมักเพิ่มสูงขึ้นจนน่ากลัว จนทางหน่วยงานภาครัฐต้องออกมาตรการควบคุมการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนขึ้นมาเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเพิ่มความระมัดระวังในการขับขี่ การให้บริการจุดแวะพักเพื่อป้องกันอาหารเหนื่อยล้าจากการเดินทางไกล รวมไปถึงการตั้งจุดให้บริการตรวจสอบสภาพรถยนต์ ซึ่งเป็นมาตรการเพิ่มเติมนอกเหนือจากการติดตั้งสัญลักษณ์การจราจรอื่น ๆ เอาไว้ล่วงหน้าและเป็นประจำอยู่แล้ว ทั้ง ป้ายจราจร ไฟจราจร หรือการตีเส้นบนพื้นผิวถนน ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะต้องผ่านการวิเคราะห์และตรวจสอบความเหมาะสมก่อนลงมือทำทุกครั้ง ร้านไทยจราจรขอแนะนำวิธีในการตรวจสอบและวิเคราะห์ความปลอดภัยบนท้องถนนมาพอสังเขป ตามรายละเอียดต่อไปนี้
1.ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ขับขี่และคนเดินทางเท้า
เนื่องจากหากเกิดการเฉี่ยวชนกันระหว่างรถที่สัญจรผ่านไปมา และผู้คนที่เดินไปมา ย่อมเกิดความเสี่ยงต่อชีวิตและทรัพย์สินของคนเดินเท้าได้มากกว่า ตามพระราชบัญญัติควบการการจราจรจึงได้กำหนดว่าผู้ขับขี่ต้องใช้ความระมัดระวังเพื่อไม่ให้รถชนหรือโดนคนที่กำลังเดินเท้าอยู่ ไม่ว่าจะอยู่ในบริเวณส่วนใดของถนนหนทางก็ตาม ผู้ขับขี่ยวดยานพาหนะต้องให้สัญญาณเตือนคนเดินเท้าได้รู้ตัวตามความจำเป็น อย่างเหมาะสม โดยเฉพาะในกรณีที่ผู้เดินทางเท้าเป็นเด็ก คนชรา หรือคนพิการ โดยผู้ขับขี่จะต้องใช้ความระมัดระวังในขณะขับเข้าใกล้คนเดินเท้าที่มีลักษณะดังกล่าวเป็นกรณีพิเศษอีกด้วย ซึ่งหากพิจารณารายละเอียดตามที่กฎหมายได้นิยามไว้ ผู้ขับขี่ว่ายวดยานพาหนะทุกคันจะต้องให้ความสำคัญกับผู้ข้ามถนนหรือเดินทางเท้าเป็นสำคัญในทุกกรณี ซึ่งหากถนนหนทางในบริเวณใด ๆ มีปริมาณผู้คนสัญจรเดินเท้ามาก ก็จะต้องมีการติดตั้งเครื่องหมายจราจร หรืออุปกรณ์จราจรที่เหมาะสมและเพียงพอเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็น สัญญาณไฟจราจร ให้คนข้ามถนน ป้ายเตือน หรือทางคนข้ามถนน เป็นต้น
2.อัตราการเกิดอุบัติเหตุหรือรูปแบบของอุบัติเหตุที่พบเห็นได้บ่อย ๆ
หากถนนหรือเส้นทางมีการเกิดอุบัติเหตุอยู่บ่อยครั้ง ควรทำสถิติรายละเอียดของอุบัติเหตุนั้น ๆ เอาไว้อย่างรอบคอบ ไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลาในการเกิดอุบัติเหตุ ลักษณะของรถและคู่กรณี ลักษณะของอุบัติเหตุเป็นการชนกัน เฉี่ยวชน หรือเบียดด้านข้างกัน เพศและอายุของผู้ที่ประสบเหตุ สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้สามารถกำหนดมาตรการแก้ไขได้อย่างเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นขนาดของข้อความการเตือน จำนวนของป้ายเตือน หรือแม้แต่ความจำเป็นในการเพิ่มบุคลากรมาควบคุมการจราจรในช่วงที่การสัญจรคับคั่งหรือเกิดอุบัติเหตุบ่อย ๆ ได้ทันสถานการณ์
3.การสำรวจลักษณะของผู้ใช้รถใช้ถนนในบริเวณดังกล่าว
เพศและอายุก็นับว่ามีผลต่อการตัดสินใจเมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่คับขันและฉุกเฉิน อย่างในกรณีที่ผู้ขับขี่โดยมากมีอายุมากกว่า 60 ปี ก็อาจทำให้การมองเห็นและการตัดสินใจช้ากว่าผู้ที่อยู่ในวัยทำงานเป็นอย่างมาก จึงอาจต้องเพิ่มขนาดของหัวสัญญาณไฟจราจร หรือเพิ่มระยะห่างระหว่างเส้นหยุดและเส้นเตือนให้ห่างมากขึ้น เพื่อเพิ่มความปลอดภัย หรือในกรณีที่ผู้ขับขี่เป็นผู้ที่อายุน้อย และใช้จักรยานยนต์เป็นยานพาหนะหลัก ก็อาจต้องเพิ่มกรวยจราจร หรือเสากั้นมาควบคุมให้ใช้รถใช้ถนนอย่างเหมาะสม ไม่ไปเบียดเบียนพื้นที่ของคนข้ามถนนหรือคนเดินเท้าได้
4.การประเมินรูปแบบของเส้นทาง
เนื่องจากการสร้างถนนหนทางในแต่ละพื้นที่จะมีข้อจำกัด หรือรูปแบบที่แตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นทางแยกเนื่องจากการบรรจบของเส้นทางสายอื่น ๆ ทางโค้งหรือเลี้ยวเนื่องจากติดอาคารสถานที่ หรือภูเขาลำธาร กรณีที่ราบสูงที่ทำให้เกิดทางลาดชันและคดเคี้ยว สิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อประสิทธิภาพและความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนนทุก ๆ คนเป็นอย่างมาก การติดตั้งอุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อควบคุมการจราจรในพื้นที่หรือรูปแบบเส้นทางที่แตกต่างกันตามที่ได้กล่าวมานี้ จึงมีความสำคัญและจำเป็นเป็นอย่างมาก อย่างในกรณีที่เป็นตรอกและมีซอกซอยอยู่มาก จะส่งผลต่อความสามารถการมองเห็นได้ ควรเพิ่มเติมกระจกโค้งจราจร ไฟแสงสว่าง หรือสัญญาณเตือนอื่น ๆ ตามความเหมาะสม
5.การประเมินองค์ประกอบที่เกี่ยวข้อง
เพื่อให้มีความปลอดภัยบนท้องถนน นอกจากรูปลักษณะเส้นทางของเส้นทาง และลักษณะของผู้ที่ผ่านสัญจรไปมาจะมีความสำคัญแล้ว ยังควรพิจารณาถึงองค์ประกอบอื่น ๆ อย่างเช่น แสงสว่างของเส้นทางบริเวณดังกล่าว ลักษณะการใช้ความเร็วของผู้ขับขี่ยวดยานพาหนะ ลักษณะของชุมชนที่ตั้งอยู่ 2 ข้างทาง ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนหรือตลาด เพราะสิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อความปลอดภัย ดังนั้นควรติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มเติมเพื่อลดอันตรายระหว่างยวดยานพาหนะและผู้ใช้รถใช้ถนนทุกคน
6.การติดตามมาตรการการแก้ไข
เพื่อให้แน่ใจว่ามาตรการควบคุมอุบัติที่ได้ลงมือแก้ไขไปมีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องมีการทำสถิติเพื่อติดตามว่าปัญหาดังกล่าวได้รับการแก้ไขอย่างเหมาะสมหรือไม่ด้วย หากยังพบปัญหาก็ต้องพิจารณามาตรการแก้ไขอื่น ๆ เพิ่มเติม
7.การพิจารณาความเข้าใจกฎระเบียบการจราจร
ปัญหาหนึ่งที่พบว่าการเกิดอุบัติเหตุมักมาจากการละเลยกฎจราจรของผู้ใช้รถใช้ถนน จึงควรพิจารณาถึงความเข้าใจของผู้ขับขี่เมื่อพบสัญลักษณ์ตามป้ายเตือนด้วยว่าสามารถปฏิบัติได้อย่างถูกต้องหรือไม่
8.ลักษณะความสมบูรณ์ของถนนหนทาง
ถนนหนทางเมื่อใช้ไปนาน ๆ ก็อาจเกิดการชำรุดเสียหายได้ จึงต้องพิจารณาวิเคราะห์มาตรการในการบำรุงรักษาให้อยู่ในสภาพที่ดีอยู่เสมอ หากจำเป็นต้องซ่อมแซมควรมีการเตือนด้วยไฟกระพริบ แผงกั้นจราจร กรวยจราจร และอุปกรณ์จราจรอื่น ๆ ตามความเหมาะสม
9.ความเพียงพอและเหมาะสมของอุปกรณ์
การติดตั้งอุปกรณ์ควบคุมการจราจรที่มากเกินไปอาจทำให้เกิดการสัญจรที่ติดขัด แต่หากน้อยเกินไปก็เสี่ยงที่จะเกิดอันตราย จึงควรพิจารณาตามความเหมาะสมและจำเป็นเป็นสำคัญ
เมื่อวิเคราะห์รูปแบบของรถยนต์ ถนนหนทาง และองค์ประกอบอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้รถใช้ถนนตามรายละเอียดที่ได้กล่าวมานี้แล้ว ร้านไทยจราจรเชื่อมั่นว่าท่านคงสามารถพิจารณาเลือกได้ว่าจะเพิ่มอุปกรณ์จราจรหรือใช้มาตรการใดเพื่อสร้างความปลอดภัยให้เกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง การปล่อยปละละเลยนอกจากจะทำให้สูญเสียทรัพย์สินที่เสียหายจากอุบัติเหตุแล้ว ยังอาจส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ประสบเหตุและครอบครัวที่รอคอยอยู่ซึ่งไม่สามารถประเมินมูลค่าได้เลย
ปรึกษาสินค้าและบริการ ฟรี! โทร 02-114-7006