เรื่องที่คนทั่วไปไม่รู้!? เส้นจราจรมี่กี่ประเภท พร้อมความหมาย

สีจราจร

       หากใครเป็นผู้ใช้รถใช้ถนนเป็นประจำ ท่านจะเห็นว่ามีเส้นสีขาวและสีเหลืองทอดยาวไปตลอดตามแนวถนน บางช่วงของถนนก็เป็นสีหนึ่งแบบหนึ่ง บางช่วงก็ถูกเปลี่ยนเป็นอีกแบบ อีกสี ท่านสงสัยหรือไม่ว่าเจ้าเส้นนี้ถูกตีขึ้นมาเพื่ออะไร และเส้นแต่ละสีแต่ละแบบมีความหมายต่างกันอย่างไร วันนี้ ร้านไทยจราจร จะมาแนะนำให้ทุกคนรู้จักเส้นบนถนนนี้ผ่านบทความนี้กันค่ะ

       เส้นบนถนนที่ทุกคนเห็นเรียกว่า เครื่องหมายจราจรบนพื้นทางตามแนวทางเดินรถ (Longitudinal Pavement Markings) หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า เส้นแบ่ง เป็นหนึ่งในเครื่องหมายจราจรบนพื้นทางและเครื่องหมายนำทาง ถูกตีขึ้นให้ทอดขนานไปตามทิศทางการเดินรถบนถนนเพื่อใช้สื่อสารกับผู้ขับขี่ยวดยานพาหนะให้ขับขี่ไปอย่างปลอดภัย เป็นระเบียบ ไม่สับสน 

เส้นจราจรมีทั้งสีขาวและเหลือง ซึ่งถูกใช้ในความหมายที่แตกต่างกัน โดย

  • เส้นสีเหลืองใช้สำหรับแบ่งทิศทางการจราจร 
  • เส้นสีขาวใช้สำหรับแบ่งช่องจราจรในทิศทางเดินรถด้านเดียวกันและใช้เป็นเส้นขอบทางเดินนอก

กรมทางหลวงกล่าวถึงประเภทของเส้นแบ่งว่ามีทั้งหมด 3 กลุ่ม ได้แก่ เส้นแบ่งทิศทางจราจร (Separation Lines) , เส้นแบ่งช่องจราจร (Lane Lines) และเส้นขอบทาง (Edge Lines)

1.เส้นแบ่งทิศทางจราจร (Separation Lines) 

       มีลักษณะเป็นเส้นสีเหลืองอาจเป็นเส้นประหรือเส้นทึบก็ได้ อยู่ตรงกลางแบ่งถนนออกเป็น 2 ช่อง  มีหน้าที่แบ่งทิศทางการเดินรถที่ขับสวนทางกัน ผู้ที่ขับขี่ยานพาหนะต้องขับในฝั่งซ้ายของเส้นแบ่งทิศทางการจราจรเสมอ ประโยชน์ของเส้นแบ่งทิศทางจราจรเพื่อให้ผู้ใช้ถนนรู้ว่าถนนเส้นนี้สามารถขับสวนกันได้ หรือให้เดินรถทางเดียว และใช้ในการนำทางช่วงเวลากลางคืน เส้นแบ่งทิศทางการจราจรยังสามารถแบ่งออกได้อีก 3 กลุ่ม ดังนี้

สีจราจร

       1.1 เส้นแบ่งทิศทางจราจรปกติ มีลักษณะเป็นเส้นประสีเหลือง แบ่งทิศทางของถนนเป็น 2 ช่องจราจรให้รถขับสวนกันได้ และต้องขับทางด้านซ้ายของเส้นเท่านั้น แต่ผู้ใช้รถสามารถขับแซงรถคันข้างหน้าได้เมื่อเห็นว่าอยู่ในระยะปลอดภัย

สีจราจร

      1.2 เส้นแบ่งทิศทางจราจรห้ามแซง เป็นเครื่องหมายจราจรเส้นเดี่ยวหรือคู่ ต้องขับทางด้านซ้ายของเส้นเท่านั้น ห้ามขับรถผ่านหรือคร่อมเส้นโดยเด็ดขาด ส่วนมากจะพบเส้นประเภทนี้ในช่องจราจรที่มีระยะปลอดภัยในการแซงต่ำ เส้นนี้จึงทำหน้าที่บอกให้รู้ว่า ไม่อนุญาตให้ขับรถออกทางขวาเพื่อแซง เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายได้

– เส้นทึบเดี่ยวสีเหลือง หมายถึงบริเวณห้ามแซงบนทางหลวง 2 ช่องจราจร

– เส้นทึบคู่สีเหลือง หมายถึงบริเวณที่ห้ามแซงทั้งสองทิศทางบนทางหลวง 2 ช่องจราจร

      โดยบริเวณที่พบการใช้เส้นแบ่งแบบนี้มักจะเป็นบริเวณที่มีความลาดชัน ทางโค้ง ทางราบที่จะไม่ปลอดภัยถ้าหากอนุญาตให้รถแซงได้ , บริเวณเขตชุมชนที่มีคนเดินเท้าเยอะ , บริเวณก่อนถึงทางข้าม ทางแยกหรือทางรถไฟ และในบริเวณที่เคยมีอุบัติเหตุบ่อยครั้ง

สีจราจร

      1.3 เส้นแบ่งทิศทางจราจรห้ามแซงเฉพาะด้าน เป็นสีเหลือง ลักษณะเส้นประขนานกับเส้นทึบ สื่อความหมายให้รู้ว่าผู้ที่ขับรถอยู่ในช่องเดียวกับเส้นทึบ จะไม่สามารถขับแซงได้โดยเด็ดขาด ส่วนผู้ที่ขับรถอยู่ในช่องฝั่งเดียวกับเส้นประ สามารถแซงได้เมื่อเห็นว่าปลอดภัยแน่นอน

 

2.เส้นแบ่งช่องจราจร (Lane Lines) 

     เป็นเส้นสีขาว มีทั้งลักษณะประหรือทึบก็ได้ ใช้ควบคุมการจราจรของถนนที่มีตั้งแต่ 2 ช่องขึ้นไป และเดินรถไปในทิศทางเดียวกัน

10 จุดอันตราย ที่ต้องติดตั้ง “การ์ดเรล”

     2.1 เส้นแบ่งช่องเดินรถ ลักษณะเส้นประสีขาวแบ่งถนนที่เดินรถทางเดียวกันเป็น 2 ช่อง สามารถขับรถคร่อมเส้นได้ก็ต่อเมื่อต้องการเปลี่ยนช่องถนนเมื่อเห็นว่าปลอดภัยเท่านั้น

สีจราจร

     2.2 เส้นแสดงความต่อเนื่อง (Continuity Lines) เป็นเส้นประสีขาวที่มีความกว้างมากกว่าปกติเพื่อบอกให้รู้ว่าควรเร่งหรือลดความเร็ว พบมากในบริเวณทางแยก

สีจราจร

     2.3 เส้นแนวช่องเดินรถผ่านทางแยก นิยมใช้เส้นประแบบถี่สีขาว ใช้ในการนำทางรถในเส้นทางที่มีความซับซ้อน เพื่อป้องกันการสับสนของผู้ขับยวดยาน

สีจราจร

     2.4 เส้นห้ามเปลี่ยนช่องเดินรถ เป็นเส้นทึบสีขาว บอกให้ผู้ขับขี่รู้ว่าต้องขับอยู่ภายในช่องจราจรเท่านั้น ห้ามเปลี่ยนช่องจราจรและคร่อมเส้น ใช้มากในบริเวณทางโค้งและทางลาดชันที่อาจเกิดอุบัติเหตุได้ถ้าหากเปลี่ยนช่องการเดินรถ

สีจราจร

     2.5 เส้นแบ่งช่องเดินรถประจำทาง ใช้บอกผู้ขับขี่รถชนิดอื่นที่ไม่ใช่รถประจำทางเข้าไปในช่องเดินรถนี้เป็นอันขาด เส้นนี้มีลักษณะเป็นเส้นประ

– ในถนนที่รถประจำทางเดินรถไปในทางเดียวกับรถปกติ จะใช้เส้นประสีขาว

– ในถนนที่รถประจำทางเดินรถสวนทางกับรถปกติ จะใช้เส้นประสีเหลือง

3.เส้นขอบทาง

       ใช้แสดงสุดขอบทางเดินรถ โดยจะเป็นเส้นทึบหรือประสีขาว ถูกตีให้ห่างจากฉนวนแบ่งช่องเดินรถ ป้องกันไม่ให้รถขับล้ำเข้าไปในไหล่ทาง

นอกจากเส้นแบ่งแล้ว เส้นจราจรยังมีอีกประเภทหนึ่งคือเครื่องหมายจราจรบนพื้นตามขวาง (Transverse Pavement Markings) เป็นเส้นที่วางขวางแนวเดินรถ ซึ่งเส้นประเภทนี้มีอีก 4 รูปแบบ ดังนี้

สีจราจร

         3.1เส้นหยุด เป็นเส้นทึบสีขาว ตีขวางทางเดินรถบริเวณที่ต้องหยุดรถ เช่น บริเวณที่มีป้ายหรือสัญญาณจราจรบังคับหยุดรถ

สีจราจร

        3.2เส้นให้ทาง เป็นเส้นประสีขาว ขวางทางเดินรถ เพื่อบอกให้รถขับช้าลงและให้ทางแก่คนเดินเท้า

สีจราจร

      3.3เส้นทางข้าม แถบหนาสีขาวหลาย ๆ แถบประกอบกัน ขวางทางเดินรถเพื่อให้รถชะลอความเร็วและหยุดให้คนเดินเท้าข้ามถนน เส้นทางข้ามยังมีอีก 2 ประเภท ได้แก่ ทางม้าลาย และ แนวคนข้าม

สีจราจร

      3.4เส้นทแยงห้ามหยุดรถ เป็นกรอบเส้นทึบสีเหลืองที่ภายในมีเส้นทึบสีเหลืองลากทแยงตัดกัน ให้ความหมายว่า ห้ามหยุดรถภายในบริเวณกรอบเส้นเหลืองนี้

 

        การปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด ไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับตัวของท่านเท่านั้น แต่ยังเพิ่มความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนนคันอื่นด้วย ร้านไทยจราจร เป็นห่วงสวัสดิภาพในการเดินทางของทุกท่านและหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ต่อท่านผู้อ่านได้นำไปปฏิบัติตามเพื่อส่งเสริมให้เกิดพฤติกรรมการใช้รถใช้ถนนที่ดีในสังคมไทยต่อไป

หากท่านกำลังมองหาอุปกรณ์การจราจรที่มีคุณภาพในระดับสากล ขอให้ ร้านไทยจราจร ได้มีโอกาสดูแลให้คำปรึกษาท่าน ติดต่อ www.trafficthai.com  ตลอด 24 ชั่วโมง

   ปรึกษาสินค้าและบริการ ฟรี! โทร 02-114-7006

อุปกรณ์จราจร มากกว่า 1,000 ชนิด !!

ร้านไทยจราจร คือแหล่งรวบรวมอุปกรณ์จราจรที่ทันสมัยและครบวงจรมากที่สุดในประเทศไทย สินค้าของทางร้านจะมีการอัพเดทใหม่ตลอดเวลา ซึ่งมีผลิตในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี จีน เพื่อมีความหลากหลายในการตอบโจทย์ และแก้ปัญหาให้กับผู้ใช้งานทุกท่าน

ดาวน์โหลด แค็ตตาล็อก ร้านไทยจราจร แหล่งรวมอุปกรณ์จราจร กว่า 1,000 ชนิด!!

ร้านไทยจราจร
แค็ตตาล็อค ร้านไทยจราจร