แจกบทความฟรี
การจัดการ ถังขยะ และขยะในสำนักงานและโรงงานอย่างครบวงจร
ถังขยะเป็นเรื่องที่เราต้องจัดการควบคู่ไปกับการจัดการขยะ เพราะถ้า ถังขยะ ไม่เพียงพอต่อความต้องการ ขยะก็ล้นออกมานอกถัง หรือมีการทิ้งขยะโดยไม่มีที่รองรับ ทำให้เกิดความสกปรก เป็นที่มาของสัตว์พาหะ และเพิ่มงานให้ผู้รับผิดชอบ แต่ถ้ามีถังขยะเกินความต้องการ ก็จะเป็นภาระที่ต้องดูแลเกินกว่าที่จำเป็น การจัดการถังขยะและขยะอย่างครบวงจรไม่ได้หมายถึงขั้นตอนตั้งแต่การเกิดขยะจนถึงการกำจัดขยะเท่านั้น แต่หมายถึงการจัดการให้ถังขยะและขยะมีปริมาณลดลงด้วย
การจัดการ ถังขยะ
1. คำนวณหาปริมาณขยะที่เกิดขึ้นต่อวัน
หาปริมาณขยะที่เกิดขึ้นต่อวันเพื่อคำนวณหาจำนวนถังขยะและจำนวนรอบในการจัดเก็บ ถ้าเป็นสำนักงานหรือโรงงานที่ดำเนินกิจการอยู่แล้ว ก็จะมีข้อมูลปริมาณขยะต่อวัน แต่ถ้าเป็นสำนักงานหรือโรงงานที่ยังไม่ได้เปิดดำเนินกิจการ เรามีแนวทางประมาณการปริมาณขยะ ดังนี้
สำนักงาน คิดจากอัตรา 0.4 ลิตรต่อพื้นที่หนึ่งตารางเมตรต่อวัน ตัวอย่างเช่น สำนักงานของท่านมีพื้นที่ 100 ตารางเมตร ปริมาณขยะโดยประมาณจะอยู่ที่ 0.4 x 100 = 40 ลิตรต่อวัน เป็นต้น ปริมาณขยะที่สามารถนำมารีไซเคิลได้จากการสำรวจคือ 60% คำนวณจากตัวอย่างคือ 24 ลิตรต่อวัน
โรงงาน คิดจากอัตราการสูญเสียในกระบวนการผลิตเฉพาะส่วนที่เป็นเศษซาก อัตราความเสียหายของสินค้าในคลังสินค้า และประมาณการของเสียหรือเศษวัสดุจากการซ่อมบำรุง เป็นต้น
2. จัดหา ถังขยะ ตามประเภทขยะ
เมื่อได้ปริมาณขยะแล้ว ขั้นต่อไปคือการจัดหาถังขยะตามประเภทขยะเพื่อให้ขยะถูกกำจัดด้วยวิธีการที่เหมาะสม และเป็นการเสริมสร้างวินัยให้พนักงาน รวมทั้งเป็นเครื่องมือตรวจสอบความมีวินัยของพนักงานด้วย เพราะสะท้อนการปฏิบัติตามกฎระเบียบได้ชัดเจน
โดยทั่วไป ขยะแยกได้เป็น 4 ประเภท ดังนี้
สีถังขยะ |
ประเภท | ลักษณะ | ตัวอย่าง |
การกำจัด |
สีเขียว | ขยะเปียก | ขยะที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ มีความชื้นมาก ส่งกลิ่นได้รวดเร็ว | เศษผักผลไม้ เปลือกผลไม้ เนื้อสัตว์ เศษอาหาร เศษไม้ เศษใบไม้ | นำไปทำปุ๋ยหมัก |
สีน้ำเงิน | ขยะทั่วไป | ขยะที่ย่อยสลายได้ยาก หรือไม่สามารถแยกประเภทได้ | ซองขนม ถุงบรรจุน้ำยาซักผ้า เปลือกลูกอม ห่อบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป | นำไปฝังกลบเพื่อรอการย่อยสลาย |
สีเหลือง | ขยะรีไซเคิล | ขยะที่กลับมาใช้ใหม่ได้ และสามารถขายได้ | กระดาษ ขวดพลาสติก ตาข่าย พลาสติก ขวดแก้ว กระป๋อง อลูมิเนียม และโลหะต่าง ๆ | นำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่อีกครั้ง |
สีแดง | ขยะอันตราย | ขยะปนเปื้อนสารอันตรายและเป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม | หลอดไฟ ถ่านไฟฉาย โทรศัพท์เคลื่อนที่ ภาชนะบรรจุสารเคมี กระป๋องสีสเปรย์ ขยะติดเชื้อ เป็นต้น | นำไปกำจัดด้วยวิธีที่ถูกต้องและด้วยความระมัดระวังเพื่อไม่ให้ปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อม |
ถ้าท่านมีถังขยะเดิมอยู่แล้ว และอยากใช้ร่วมกับถังใหม่ ก็ให้ทำป้ายแบบเดียวกัน ป้ายนอกจากสีแล้ว ควรมีสัญลักษณ์และข้อความเพื่อให้พนักงานหรือผู้มาติดต่อที่ตาบอดสีทิ้งขยะได้ถูกต้องด้วย
ในส่วนของโรงงาน สามารถกำหนดรูปแบบภาชนะรองรับขยะตามความเหมาะสม เช่น กล่องไม้หรือถังโลหะเพื่อใส่เศษเหล็ก เศษพลาสติก น้ำมัน เป็นต้น แต่ควรจัดทำป้ายชี้บ่งโดยอ้างอิงสี สัญลักษณ์ และข้อความแบบเดียวกันกับถังขยะสำนักงาน เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน
จำนวนถังขยะขึ้นอยู่กับความจุของถังขยะที่เลือกและจำนวนรอบในการจัดเก็บ โดยควรให้รองรับขยะได้ 3 เท่าของปริมาณที่คำนวณได้ เนื่องจากเป็นการคำนวณจากค่าเฉลี่ย และเผื่อไว้ในกรณีที่ไม่สามารถจัดเก็บขยะได้ตามรอบ หรือมีกิจกรรมพิเศษที่ทำให้มีขยะเพิ่มมากขึ้นกว่าปกติ
3. วาง ถังขยะ ตามจุดที่เหมาะสม
ควรจัดวางขยะในจุดที่ใกล้แหล่งกำเนิดของขยะ เพื่อลดโอกาสที่ขยะจะร่วงหล่นระหว่างทาง เช่น ห้องอาหาร หรือในจุดที่สะดวกในการจัดการขยะ เช่น ทางเข้าออก หรือจุดที่ป้องกันไม่ให้ของเสียปะปนกับของสภาพดี เป็นต้น และควรทำแผนผังจุดวางถังขยะเพื่อใช้ตรวจสอบความเหมาะสม ความถูกต้อง และความครบถ้วนของถังขยะ จากนั้นกำหนดผู้รับผิดชอบในการดูแลระหว่างการใช้งานและผู้รับผิดชอบในการจัดเก็บขยะ
4. สื่อสารให้พนักงานและผู้มาติดต่อ
จัดทำ ป้ายเตือน ให้ความรู้เกี่ยวประเภทขยะที่จุดทิ้งขยะ บรรจุเรื่องการคัดแยกขยะไว้ในหลักสูตรปฐมนิเทศ และแจ้งให้ผู้ที่มาติดต่อหรือผู้รับเหมารับทราบด้วย
5. การทำความสะอาด ถังขยะ
กำหนดระยะเวลาการทำความสะอาดถังขยะ จุดวางถังขยะ จุดพักขยะ และโรงพักขยะ เพื่อตรวจสอบสภาพของถังขยะและพื้นที่นั้น ๆ นอกจากจะทำให้ถังขยะและพื้นที่น่าใช้งานแล้ว ยังช่วยให้ถังขยะเสื่อมสภาพช้ากว่าปกติด้วย
6. ตรวจสอบเพื่อติดตามและปรับปรุง
ตรวจสอบการทิ้งว่าถูกต้องตามที่กำหนดหรือมีการทิ้งของสิ่งใดที่สร้างปัญหาหรือไม่ เพื่อนำมาปรับปรุงการจัดการถังขยะ กรณีที่ความต้องการถังขยะลดลง หรือมีถังขยะที่ไม่ตรงกับความต้องการ อาจเนื่องจากการจัดการขยะที่ดีขึ้น การปรับปรุงพื้นที่ หรือการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบ เป็นต้น
ควรจัดเก็บถังขยะเหล่านี้ไว้เป็นถังขยะสำรอง อย่าเอาไปวางเพิ่มในจุดอื่นที่ไม่จำเป็นต้องมีถังขยะ เช่น ถ้าปกติไม่มีถังขยะบริเวณ ที่จอดรถ หรือ ที่จอดรถจักรยานยนต์ ก็ไม่ต้องนำถังขยะที่เหลือใช้ไปวางเพิ่ม เพราะพนักงานได้ฝึกวินัยนำขยะไปทิ้งบริเวณทางเข้าออกแล้ว
ถังขยะสำรองที่แยกออกมานั้น สามารถนำมาใช้ในกิจกรรมของบริษัท เช่น งานเลี้ยงสังสรรค์พนักงาน งานทำบุญปีใหม่ หรือกิจกรรมอื่น ๆ กรณีที่ถังขยะสำรองมีเกินความต้องการจริง ๆ ก็สามารถจำหน่ายออกโดยการประมูลขายให้พนักงาน หรือบริจาค
นอกจากนี้ เมื่อมีการปรับปรุงหรือขยายพื้นที่ เพิ่มพนักงาน เปลี่ยนเครื่องจักร หรือเพิ่มกิจกรรม ก็ต้องพิจารณาประเภทและจำนวนถังขยะ รวมถึงรอบการจัดเก็บที่เหมาะสมใหม่อีกครั้ง
การจัดการขยะ
1. การชี้บ่งประเภทขยะเมื่อนำออกมาจาก ถังขยะ
เมื่อเราคัดแยกขยะโดยใช้ถังขยะแยกตามประเภทขยะแล้ว เราควรชี้บ่งประเภทขยะเมื่อนำออกจากถังขยะด้วย เพื่อลดโอกาสที่ขยะแต่ละประเภทจะปะปนกัน หรือไม่จำเป็นต้องเปิดถุงขยะดูเมื่อสงสัยว่าเป็นขยะประเภทไหน การใช้ถุงใสหรือขุ่นเพื่อให้เห็นขยะข้างในทำให้มีต้นทุนสูงกว่าถุงขยะสีดำ การใช้ถุงสีแยกตามประเภทขยะ ก็ทำให้ต้องลงทุนซื้อถุงหลากหลายสีมาเก็บไว้ ยิ่งสำนักงานหรือโรงงานที่มีถังขยะหลายขนาด ทำให้ต้องเก็บสำรองถุงขยะหลายขนาดไว้ด้วย เราสามารถชี้บ่งขยะโดยใช้ถุงขยะสีดำด้วยการมัดปากถุงที่แตกต่างกัน ดังนี้
ขยะ 4 ประเภท กับมัดปากถุง 4 แบบ
ประเภท |
การมัดปากถุง |
ขยะเปียก | รวบปลายถุงเข้าด้วยกันแล้วขมวดเป็นปมที่ปลาย |
ขยะทั่วไป | จับปลายถุงเป็นสองชายแล้วนำมามัดกัน |
ขยะรีไซเคิล | ผูกปากถุงด้วยเชือกฟางสีเหลือง |
ขยะอันตราย | ผูกปากถุงด้วยเชือกฟางสีแดง |
2. การวางแผนจัดการขยะ
นอกจากการจัดเก็บขยะตามรอบการจัดเก็บแล้ว ควรกำหนดรอบการจัดการขยะที่ไม่ได้เกิดขึ้นประจำวันด้วย เช่น การทำลายเอกสาร การทำลายสินค้าเสื่อมสภาพ การยกเลิกเฟอร์นิเจอร์หรืออุปกรณ์สำนักงาน เป็นต้น เพื่อให้แต่ละพื้นที่ทบทวนและนำสิ่งของออกมากำจัดได้ตลอดทั้งปี ทำให้เราสามารถกำจัดขยะชิ้นใหญ่ หรือขยะที่มีปริมาณมากในคราวเดียวกันได้ โดยไม่มีขยะเหลือตกค้าง
3. กำหนดมาตรการเพื่อลดปริมาณขยะ
นำมาตรการต่าง ๆ มาใช้เพื่อลดการใช้ทรัพยากรโลก และลดปริมาณงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการขยะ ได้แก่
- ให้พนักงานใช้อุปกรณ์สำนักงาน หรือเครื่องมือต่าง ๆ ให้ถูกวิธี ป้องกันการชำรุดเสียหาย เพื่อไม่ต้องเปลี่ยนอะไหล่ หรือซื้อของใหม่มาทดแทน
- ใช้วัสดุธรรมชาติแทนวัสดุสังเคราะห์ เช่น ใช้มะกรูดกับการบูร แทนเจลปรับอากาศในห้องน้ำ หรือใช้น้ำหมักชีวภาพทำความสะอาดห้องน้ำแทนน้ำยาเคมี เพื่อจะได้ไม่ต้องมีขยะพลาสติก และขยะอันตราย
- ปรับปรุงการทำงานเพื่อลดขั้นตอนการทำงานและเอกสาร เช่น การยื่นคำร้องผ่านระบบคอมพิวเตอร์ เป็นต้น
- การกำหนดให้ผู้รับเหมาต้องนำขยะที่เกิดขึ้นจากงานรับเหมาออกไปทิ้งนอกบริเวณอย่างถูกต้องด้วย
- มาตรการลดปริมาณขยะอื่น ๆ เช่น ห้ามพนักงานนำกล่องโฟมเข้ามาในสถานที่ทำงาน หรือกำหนดให้พนักงานใช้แก้วน้ำเฉพาะแบบที่ไม่มีหยดน้ำเกาะรอบแก้วเท่านั้น เป็นต้น
ขยะเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเป็นที่มาของสัตว์พาหะ ที่อาจมาทำลายสินค้าหรือเครื่องใช้ในที่ทำงาน การเน่าเสียของขยะทำให้เกิดผุกร่อนหรือทำลายพื้นผิว ทำให้พื้นผิวสกปรกไม่สะอาดตา สะท้อนภาพลักษณ์ของบริษัทว่าขาดการใส่ใจดูแล การจัดการ ถังขยะ และขยะนอกจากจะช่วยปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังทำให้เกิดสภาพแวดล้อมที่ดีภายในที่ทำงานด้วย และเป็น วิธีลดอุบัติเหตุ ที่เกิดจากเศษวัสดุตกหล่นหรือของเหลวไหลรั่วลงพื้น
รวมถึงเป็น วิธีลดอุบัติเหตุ ที่เกิดจากขยะอันตรายที่ติดไฟง่ายและสามารถระเบิดได้ เป็นต้น และหากคุณกำลังจัดหาจัดซื้อถังขยะสำหรับในองค์กร บริษัท หน่วยงานต่าง ๆ ให้ถูกประเภท ร้านไทยจราจร มีผู้เชี่ยวชาญพร้อมให้คำแนะนำและปรึกษา ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ร้านไทยจราจร เว็บไซต์ https://trafficthai.com/
ที่มาข้อมูล
- http://oldoffice.dpt.go.th/legal/images/pdf/legal_11.pdf
- https://infotrash.deqp.go.th/knowledge/64
- https://trafficthai.com/shop/product-category/trash-category/