การจัดการ ถังขยะ และขยะในสำนักงานและโรงงานอย่างครบวงจร

horizontal cover

          ถังขยะเป็นเรื่องที่เราต้องจัดการควบคู่ไปกับการจัดการขยะ เพราะถ้า ถังขยะ ไม่เพียงพอต่อความต้องการ ขยะก็ล้นออกมานอกถัง หรือมีการทิ้งขยะโดยไม่มีที่รองรับ ทำให้เกิดความสกปรก เป็นที่มาของสัตว์พาหะ และเพิ่มงานให้ผู้รับผิดชอบ แต่ถ้ามีถังขยะเกินความต้องการ ก็จะเป็นภาระที่ต้องดูแลเกินกว่าที่จำเป็น การจัดการถังขยะและขยะอย่างครบวงจรไม่ได้หมายถึงขั้นตอนตั้งแต่การเกิดขยะจนถึงการกำจัดขยะเท่านั้น แต่หมายถึงการจัดการให้ถังขยะและขยะมีปริมาณลดลงด้วย

การจัดการ ถังขยะ

wastecalculator

1. คำนวณหาปริมาณขยะที่เกิดขึ้นต่อวัน

หาปริมาณขยะที่เกิดขึ้นต่อวันเพื่อคำนวณหาจำนวนถังขยะและจำนวนรอบในการจัดเก็บ ถ้าเป็นสำนักงานหรือโรงงานที่ดำเนินกิจการอยู่แล้ว ก็จะมีข้อมูลปริมาณขยะต่อวัน แต่ถ้าเป็นสำนักงานหรือโรงงานที่ยังไม่ได้เปิดดำเนินกิจการ เรามีแนวทางประมาณการปริมาณขยะ ดังนี้

สำนักงาน คิดจากอัตรา 0.4 ลิตรต่อพื้นที่หนึ่งตารางเมตรต่อวัน ตัวอย่างเช่น สำนักงานของท่านมีพื้นที่ 100 ตารางเมตร ปริมาณขยะโดยประมาณจะอยู่ที่ 0.4 x 100 = 40 ลิตรต่อวัน เป็นต้น ปริมาณขยะที่สามารถนำมารีไซเคิลได้จากการสำรวจคือ 60% คำนวณจากตัวอย่างคือ 24 ลิตรต่อวัน

โรงงาน คิดจากอัตราการสูญเสียในกระบวนการผลิตเฉพาะส่วนที่เป็นเศษซาก อัตราความเสียหายของสินค้าในคลังสินค้า และประมาณการของเสียหรือเศษวัสดุจากการซ่อมบำรุง เป็นต้น

Procurement of garbage bins by type of waste

2. จัดหา ถังขยะ ตามประเภทขยะ

เมื่อได้ปริมาณขยะแล้ว ขั้นต่อไปคือการจัดหาถังขยะตามประเภทขยะเพื่อให้ขยะถูกกำจัดด้วยวิธีการที่เหมาะสม และเป็นการเสริมสร้างวินัยให้พนักงาน รวมทั้งเป็นเครื่องมือตรวจสอบความมีวินัยของพนักงานด้วย เพราะสะท้อนการปฏิบัติตามกฎระเบียบได้ชัดเจน

โดยทั่วไป ขยะแยกได้เป็น 4 ประเภท ดังนี้

green-trash
blue-trash
yellow-trash
red-trash

สีถังขยะ

ประเภท ลักษณะ ตัวอย่าง

การกำจัด

สีเขียว ขยะเปียก ขยะที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ มีความชื้นมาก ส่งกลิ่นได้รวดเร็ว เศษผักผลไม้ เปลือกผลไม้ เนื้อสัตว์ เศษอาหาร เศษไม้ เศษใบไม้ นำไปทำปุ๋ยหมัก
สีน้ำเงิน ขยะทั่วไป ขยะที่ย่อยสลายได้ยาก หรือไม่สามารถแยกประเภทได้ ซองขนม ถุงบรรจุน้ำยาซักผ้า เปลือกลูกอม ห่อบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป นำไปฝังกลบเพื่อรอการย่อยสลาย
สีเหลือง ขยะรีไซเคิล ขยะที่กลับมาใช้ใหม่ได้ และสามารถขายได้ กระดาษ ขวดพลาสติก ตาข่าย พลาสติก ขวดแก้ว กระป๋อง อลูมิเนียม และโลหะต่าง ๆ นำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่อีกครั้ง
สีแดง ขยะอันตราย ขยะปนเปื้อนสารอันตรายและเป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม หลอดไฟ ถ่านไฟฉาย โทรศัพท์เคลื่อนที่ ภาชนะบรรจุสารเคมี กระป๋องสีสเปรย์ ขยะติดเชื้อ เป็นต้น นำไปกำจัดด้วยวิธีที่ถูกต้องและด้วยความระมัดระวังเพื่อไม่ให้ปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อม

        ถ้าท่านมีถังขยะเดิมอยู่แล้ว และอยากใช้ร่วมกับถังใหม่ ก็ให้ทำป้ายแบบเดียวกัน ป้ายนอกจากสีแล้ว ควรมีสัญลักษณ์และข้อความเพื่อให้พนักงานหรือผู้มาติดต่อที่ตาบอดสีทิ้งขยะได้ถูกต้องด้วย

       ในส่วนของโรงงาน สามารถกำหนดรูปแบบภาชนะรองรับขยะตามความเหมาะสม เช่น กล่องไม้หรือถังโลหะเพื่อใส่เศษเหล็ก เศษพลาสติก น้ำมัน เป็นต้น แต่ควรจัดทำป้ายชี้บ่งโดยอ้างอิงสี สัญลักษณ์ และข้อความแบบเดียวกันกับถังขยะสำนักงาน เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน 

        จำนวนถังขยะขึ้นอยู่กับความจุของถังขยะที่เลือกและจำนวนรอบในการจัดเก็บ โดยควรให้รองรับขยะได้ 3 เท่าของปริมาณที่คำนวณได้ เนื่องจากเป็นการคำนวณจากค่าเฉลี่ย และเผื่อไว้ในกรณีที่ไม่สามารถจัดเก็บขยะได้ตามรอบ หรือมีกิจกรรมพิเศษที่ทำให้มีขยะเพิ่มมากขึ้นกว่าปกติ

3. วาง ถังขยะ ตามจุดที่เหมาะสม

          ควรจัดวางขยะในจุดที่ใกล้แหล่งกำเนิดของขยะ เพื่อลดโอกาสที่ขยะจะร่วงหล่นระหว่างทาง เช่น ห้องอาหาร หรือในจุดที่สะดวกในการจัดการขยะ เช่น ทางเข้าออก หรือจุดที่ป้องกันไม่ให้ของเสียปะปนกับของสภาพดี เป็นต้น และควรทำแผนผังจุดวางถังขยะเพื่อใช้ตรวจสอบความเหมาะสม ความถูกต้อง และความครบถ้วนของถังขยะ จากนั้นกำหนดผู้รับผิดชอบในการดูแลระหว่างการใช้งานและผู้รับผิดชอบในการจัดเก็บขยะ

4. สื่อสารให้พนักงานและผู้มาติดต่อ

         จัดทำ ป้ายเตือน ให้ความรู้เกี่ยวประเภทขยะที่จุดทิ้งขยะ บรรจุเรื่องการคัดแยกขยะไว้ในหลักสูตรปฐมนิเทศ และแจ้งให้ผู้ที่มาติดต่อหรือผู้รับเหมารับทราบด้วย

5. การทำความสะอาด ถังขยะ

        กำหนดระยะเวลาการทำความสะอาดถังขยะ จุดวางถังขยะ จุดพักขยะ และโรงพักขยะ เพื่อตรวจสอบสภาพของถังขยะและพื้นที่นั้น ๆ นอกจากจะทำให้ถังขยะและพื้นที่น่าใช้งานแล้ว ยังช่วยให้ถังขยะเสื่อมสภาพช้ากว่าปกติด้วย

Follow-up-on-the-improvement-of-trash-
6. ตรวจสอบเพื่อติดตามและปรับปรุง

           ตรวจสอบการทิ้งว่าถูกต้องตามที่กำหนดหรือมีการทิ้งของสิ่งใดที่สร้างปัญหาหรือไม่ เพื่อนำมาปรับปรุงการจัดการถังขยะ กรณีที่ความต้องการถังขยะลดลง หรือมีถังขยะที่ไม่ตรงกับความต้องการ อาจเนื่องจากการจัดการขยะที่ดีขึ้น การปรับปรุงพื้นที่ หรือการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบ เป็นต้น

          ควรจัดเก็บถังขยะเหล่านี้ไว้เป็นถังขยะสำรอง อย่าเอาไปวางเพิ่มในจุดอื่นที่ไม่จำเป็นต้องมีถังขยะ เช่น ถ้าปกติไม่มีถังขยะบริเวณ ที่จอดรถ หรือ ที่จอดรถจักรยานยนต์ ก็ไม่ต้องนำถังขยะที่เหลือใช้ไปวางเพิ่ม เพราะพนักงานได้ฝึกวินัยนำขยะไปทิ้งบริเวณทางเข้าออกแล้ว

         ถังขยะสำรองที่แยกออกมานั้น สามารถนำมาใช้ในกิจกรรมของบริษัท เช่น งานเลี้ยงสังสรรค์พนักงาน งานทำบุญปีใหม่ หรือกิจกรรมอื่น ๆ กรณีที่ถังขยะสำรองมีเกินความต้องการจริง ๆ ก็สามารถจำหน่ายออกโดยการประมูลขายให้พนักงาน หรือบริจาค

         นอกจากนี้ เมื่อมีการปรับปรุงหรือขยายพื้นที่ เพิ่มพนักงาน เปลี่ยนเครื่องจักร หรือเพิ่มกิจกรรม ก็ต้องพิจารณาประเภทและจำนวนถังขยะ รวมถึงรอบการจัดเก็บที่เหมาะสมใหม่อีกครั้ง

การจัดการขยะ

1. การชี้บ่งประเภทขยะเมื่อนำออกมาจาก ถังขยะ

           เมื่อเราคัดแยกขยะโดยใช้ถังขยะแยกตามประเภทขยะแล้ว เราควรชี้บ่งประเภทขยะเมื่อนำออกจากถังขยะด้วย เพื่อลดโอกาสที่ขยะแต่ละประเภทจะปะปนกัน หรือไม่จำเป็นต้องเปิดถุงขยะดูเมื่อสงสัยว่าเป็นขยะประเภทไหน การใช้ถุงใสหรือขุ่นเพื่อให้เห็นขยะข้างในทำให้มีต้นทุนสูงกว่าถุงขยะสีดำ การใช้ถุงสีแยกตามประเภทขยะ ก็ทำให้ต้องลงทุนซื้อถุงหลากหลายสีมาเก็บไว้ ยิ่งสำนักงานหรือโรงงานที่มีถังขยะหลายขนาด ทำให้ต้องเก็บสำรองถุงขยะหลายขนาดไว้ด้วย เราสามารถชี้บ่งขยะโดยใช้ถุงขยะสีดำด้วยการมัดปากถุงที่แตกต่างกัน ดังนี้

ขยะ 4 ประเภท กับมัดปากถุง 4 แบบ

ประเภท

การมัดปากถุง
ขยะเปียก รวบปลายถุงเข้าด้วยกันแล้วขมวดเป็นปมที่ปลาย
ขยะทั่วไป จับปลายถุงเป็นสองชายแล้วนำมามัดกัน
ขยะรีไซเคิล ผูกปากถุงด้วยเชือกฟางสีเหลือง
ขยะอันตราย ผูกปากถุงด้วยเชือกฟางสีแดง

2. การวางแผนจัดการขยะ

        นอกจากการจัดเก็บขยะตามรอบการจัดเก็บแล้ว ควรกำหนดรอบการจัดการขยะที่ไม่ได้เกิดขึ้นประจำวันด้วย เช่น การทำลายเอกสาร การทำลายสินค้าเสื่อมสภาพ การยกเลิกเฟอร์นิเจอร์หรืออุปกรณ์สำนักงาน เป็นต้น เพื่อให้แต่ละพื้นที่ทบทวนและนำสิ่งของออกมากำจัดได้ตลอดทั้งปี ทำให้เราสามารถกำจัดขยะชิ้นใหญ่ หรือขยะที่มีปริมาณมากในคราวเดียวกันได้ โดยไม่มีขยะเหลือตกค้าง

3. กำหนดมาตรการเพื่อลดปริมาณขยะ

  นำมาตรการต่าง ๆ มาใช้เพื่อลดการใช้ทรัพยากรโลก และลดปริมาณงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการขยะ ได้แก่

  1. ให้พนักงานใช้อุปกรณ์สำนักงาน หรือเครื่องมือต่าง ๆ ให้ถูกวิธี ป้องกันการชำรุดเสียหาย เพื่อไม่ต้องเปลี่ยนอะไหล่ หรือซื้อของใหม่มาทดแทน
  2. ใช้วัสดุธรรมชาติแทนวัสดุสังเคราะห์ เช่น ใช้มะกรูดกับการบูร แทนเจลปรับอากาศในห้องน้ำ หรือใช้น้ำหมักชีวภาพทำความสะอาดห้องน้ำแทนน้ำยาเคมี เพื่อจะได้ไม่ต้องมีขยะพลาสติก และขยะอันตราย 
  3. ปรับปรุงการทำงานเพื่อลดขั้นตอนการทำงานและเอกสาร เช่น การยื่นคำร้องผ่านระบบคอมพิวเตอร์ เป็นต้น
  4. การกำหนดให้ผู้รับเหมาต้องนำขยะที่เกิดขึ้นจากงานรับเหมาออกไปทิ้งนอกบริเวณอย่างถูกต้องด้วย 
  5. มาตรการลดปริมาณขยะอื่น ๆ เช่น ห้ามพนักงานนำกล่องโฟมเข้ามาในสถานที่ทำงาน หรือกำหนดให้พนักงานใช้แก้วน้ำเฉพาะแบบที่ไม่มีหยดน้ำเกาะรอบแก้วเท่านั้น เป็นต้น

            ขยะเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเป็นที่มาของสัตว์พาหะ ที่อาจมาทำลายสินค้าหรือเครื่องใช้ในที่ทำงาน การเน่าเสียของขยะทำให้เกิดผุกร่อนหรือทำลายพื้นผิว ทำให้พื้นผิวสกปรกไม่สะอาดตา สะท้อนภาพลักษณ์ของบริษัทว่าขาดการใส่ใจดูแล การจัดการ ถังขยะ และขยะนอกจากจะช่วยปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังทำให้เกิดสภาพแวดล้อมที่ดีภายในที่ทำงานด้วย และเป็น วิธีลดอุบัติเหตุ ที่เกิดจากเศษวัสดุตกหล่นหรือของเหลวไหลรั่วลงพื้น        

         รวมถึงเป็น วิธีลดอุบัติเหตุ ที่เกิดจากขยะอันตรายที่ติดไฟง่ายและสามารถระเบิดได้ เป็นต้น และหากคุณกำลังจัดหาจัดซื้อถังขยะสำหรับในองค์กร บริษัท หน่วยงานต่าง ๆ ให้ถูกประเภท ร้านไทยจราจร มีผู้เชี่ยวชาญพร้อมให้คำแนะนำและปรึกษา ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ร้านไทยจราจร เว็บไซต์ https://trafficthai.com/

ที่มาข้อมูล

  • http://oldoffice.dpt.go.th/legal/images/pdf/legal_11.pdf 
  • https://infotrash.deqp.go.th/knowledge/64 
  • https://trafficthai.com/shop/product-category/trash-category/