ช่องจอดคนพิการ ควรมีขนาดเท่าไหร่ และควรมีอุปกรณ์อะไรบ้าง??

               ในลานจอดรถของสถานที่สำคัญต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ราชการ สถานที่ท่องเที่ยว รวมถึงห้างสรรพสินค้า สิ่งหนึ่งที่จะต้องมีประจำอยู่เสมอ นั่นก็คือ ช่องจอดรถคนพิการ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับคนพิการที่ไม่มีสภาพร่างกายครบ 32 ประการเหมือนอย่างคนทั่วไป แต่จำเป็นต้องมาติดต่อราชการ หรือต้องการจะออกมาเปิดหูเปิดตา ท่องเที่ยวเพื่อคลายเครียดจากการอยู่แต่ในบ้านบ้าง
                   เมื่อพูดถึงช่องจอดคนพิการ คุณคงทราบดีอยู่แล้วว่าเป็นช่องจอดรถที่ต้องออกแบบมาเพื่อให้คนพิการมีความสะดวกสบายมากที่สุด เนื่องจากกว่าที่คนพิการจะลงจากรถเพื่อเข้าสถานที่นั้น ๆ ได้ ต้องเตรียมตัวหลายอย่าง ถ้าผู้พิการท่านใดไม่สามารถเดินได้เอง ก็ต้องเตรียมรถเข็น หรือเดินได้บางส่วนก็ต้องเตรียมไม้เท้า รวมไปถึงผู้พิการทางสมอง ก็ต้องเตรียมการอีกหลายอย่างกว่าจะเข้าไปในห้างสรรพสินค้า หรือสถานที่ที่ต้องการได้ ไม่ใช่เปิดรถออกมาแล้วก็เดินเข้าห้างได้ทันทีเหมือนอย่างคนทั่วไป ด้วยเหตุนี้ ช่องจอดรถคนพิการ จึงจำเป็นต้องมีขนาดใหญ่กว่าช่องจอดรถทั่วไป แต่ถามว่าจริง ๆ แล้ว ช่องจอดรถคนพิการนี้มีความกว้างแค่ไหน วันนี้ร้านไทยจราจรเราจะพาไปดูกัน
                  ตามกฎกระทรวง ที่ว่าด้วยเรื่องความสะดวกสำหรับคนพิการ ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า ช่องจอดคนพิการ จะต้องมีความกว้างไม่น้อยกว่า 2,400 มิลลิเมตร และมีความยาวไม่น้อยกว่า 6,000 มิลลิเมตร มีรูปทรงเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า และต้องมีระยะห่างด้านข้างตัวรถไม่น้อยกว่า 1,000 มิลลิเมตร เพื่อให้คนพิการสามารถขึ้นลงรถได้สะดวก รวมถึงช่วยให้ผู้ดูแลสามารถจัดการเตรียมการเพื่อความสะดวก เช่น เตรียมรถเข็น ไม้เท้า สำหรับคนพิการได้ด้วย ซึ่งความกว้างและความยาวของช่องจอดรถคนพิการนี้ ไม่ได้จำกัดว่าจะต้องมีขนาดเท่านี้พอดี สามารถมีขนาดใหญ่กว่านี้ได้ แต่ต้องไม่ต่ำกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมาย หากห้างสรรพสินค้า หรือสถานที่สำคัญแห่งใดทำช่องจอดรถคนพิการไม่ได้ขนาดที่เป็นมาตรฐาน แคบเกินไป ย่อมส่งผลให้คนพิการไม่ได้รับความสะดวกในการใช้ลานจอดรถ กรณีนี้เจ้าของสถานที่มีความผิด ต้องรับโทษปรับ
                 นอกจากความกว้างที่ต้องเพียงพอแล้ว ช่องจอดคนพิการ ยังมีลักษณะเด่นอีกอย่างหนึ่ง คือ ต้องมีสัญลักษณ์รูปคนพิการพิมพ์ไว้ที่ช่องจอดรถด้วย เป็นสัญลักษณ์รูปคนพิการนั่งบนรถเข็น มีความกว้างและความยาวไม่น้อยกว่า 900 มิลลิเมตร ในสถานที่บางแห่ง จะใช้หมึกสีขาวพิมพ์สัญลักษณ์นี้ไว้บนพื้นปูนเปล่า ๆ แต่ในสถานที่บางแห่ง ก็ทำพื้นของช่องจอดรถคนพิการให้เป็นสีสว่าง อย่างเช่นสีฟ้าหรือสีส้มก่อน แล้วจึงพิมพ์สัญลักษณ์รูปคนพิการไว้บนพื้นสีดังกล่าว เพื่อช่วยให้ผู้ขับขี่สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น ส่วนอุปกรณ์ประกอบอื่น ๆ ควรมียางกั้นล้อรถ เพื่อป้องกันรถไหล และป้ายตั้งพื้นเพื่อบอกทางเข้าสู่ช่องจอดรถด้วย
                     ไม่ใช่เพียงเรื่องความกว้างที่จอดรถเท่านั้นที่ต้องทำอย่างเพียงพอ เพราะสถานที่ติดตั้งช่องจอดคนพิการก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน ร้านไทยจราจร ขอแนะนำว่าการติดตั้งช่องจอดรถคนพิการ เจ้าของอาคาร หรือฝ่ายจัดการอาคาร ควรเลือกติดตั้งในพื้นที่ที่เหมาะสม อยู่ในจุดที่สามารถเข้าออกได้สะดวก เมื่อรถของผู้พิการเข้าจอดแล้ว สามารถเดินเข้าสถานที่ได้สะดวก ไม่ต้องเดินทางระยะไกล กว่าจะมาถึงสถานที่เป้าหมายได้ก็กินเวลานานหลายนาที สร้างทั้งความลำบากและความเหน็ดเหนื่อยให้กับทั้งผู้พิการและผู้ดูแล นอกจากนี้ จุดจอดรถคนพิการจะต้องเป็นจุดที่มีความปลอดภัยพอสมควร ไม่มีรถพลุกพล่านเกินไปจนเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ หรือทำให้การจราจรติดขัดในขณะกำลังเตรียมตัว โดยจุดที่ดีที่สุดสำหรับใช้เป็นช่องจอดรถคนพิการ ก็คือ ช่องแรกในแถวของลานจอดรถ เพราะเป็นช่องที่ไม่ต้องเลี้ยวเข้าไปลึกมาก สามารถจอดรถได้ทันที เมื่อเตรียมตัวเสร็จ ก็สามารถเข้าสถานที่เป้าหมายได้ทันทีด้วย
                     ช่องจอดรถคนพิการ ถือเป็นจุดสำคัญที่จะช่วยให้ผู้พิการผู้มาใช้บริการสถานที่มีความสะดวกสบายยิ่งขึ้น เป็นหน้าที่ของอาชีพฝ่ายอาคารผู้รับผิดชอบสถานที่นั้น ๆ ที่จะต้องดูแลรักษาพื้นที่จอดรถนั้น เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ คุณอาจจะคิดว่าการดูแลรักษาพื้นที่นี้ค่อนข้างยากลำบาก แต่จริง ๆ แล้ว ช่องจอดรถสำหรับผู้พิการนี้ดูแลรักษาไม่ยาก ดังที่ร้านไทยจราจรจะนำมาฝากต่อไปนี้
              1. หมั่นดูแลรักษาป้ายสำหรับช่องจอดรถ ที่กั้นรถ รวมทั้งผิวจราจรให้อยู่ในสภาพดีเสมอ หากมีป้ายหรือสิ่งใดที่ชำรุด จะต้องจัดการเปลี่ยนหรือซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพดี พร้อมต่อการใช้งานเสมอ
              2. ไม่ควรให้รถคันอื่นที่มิใช่รถของคนพิการเข้าไปจอดในช่องจอดคนพิการ เนื่องจากจะทำให้เสียช่องจอดไป 1 ช่อง หากรถของคนพิการต้องมาจอดจริง ๆ จะไม่สามารถจอดได้ ร้านไทยจราจรแนะนำให้ใช้แผงกั้นจราจร หรือไม้กระดกอัตโนมัติมาตั้งป้องกัน รวมถึงให้ รปภ. ผู้ที่รับผิดชอบคอยกวดขัน อย่าให้ผู้อื่นเข้าไปจอดโดยไม่ได้รับอนุญาต หากต้องการจะจอด ให้แสดงบัตรประจำตัวผู้พิการเพื่อรับสิทธิทุกครั้ง
             3. อย่าให้ช่องจอดรถคนพิการมีสิ่งกีดขวาง หรือนำสิ่งของอย่างรถเข็นห้างสรรพสินค้า เก้าอี้ วัสดุอื่น ๆ เข้าไปกองไว้ในช่องจอดรถคนพิการ จนทำให้ช่องไม่สามารถใช้การได้ ถ้ามี ให้เคลื่อนย้ายวัสดุเหล่านั้นออกไป
             เพียงเท่านี้ ช่องจอดรถคนพิการ ก็จะเป็นช่องที่พร้อมต่อการใช้งานเสมอ อำนวยความสะดวกให้กับคนพิการได้อย่างเต็มที่ และไม่สร้างความลำบากให้กับผู้ดูแลแน่นอน

   ปรึกษาสินค้าและบริการ ฟรี! โทร 02-114-7006

อุปกรณ์จราจร มากกว่า 1,000 ชนิด !!

ร้านไทยจราจร คือแหล่งรวบรวมอุปกรณ์จราจรที่ทันสมัยและครบวงจรมากที่สุดในประเทศไทย สินค้าของทางร้านจะมีการอัพเดทใหม่ตลอดเวลา ซึ่งมีผลิตในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี จีน เพื่อมีความหลากหลายในการตอบโจทย์ และแก้ปัญหาให้กับผู้ใช้งานทุกท่าน